เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในกิจกรรมคู่ขนาน ?Regional Pathways to the Global Goals: ASEAN?s Approach towards SDGs Implementation and Sustainable Post-COVID-19 Recovery? ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗ ณ นครนิวยอร์ก
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) เพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกและภาคส่วนต่าง ๆ ในการเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเร่งรัดการอนุวัติเป้าหมาย SDGs เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างครอบคลุมและการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหลังโควิด กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การกล่าวถ้อยแถลงโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาง Penny Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย และ Dato Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน ตามด้วยการอภิปรายโดยผู้แทนจากอินโดนีเซีย สหภาพยุโรป องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และมูลนิธิ Rockefeller และมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ภาคีภายนอกของอาเซียน และหน่วยงานของสหประชาชาติเข้าร่วมงาน
รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเร่งรัดการดำเนินการและเพิ่มพูนความร่วมมือในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกต้องเผชิญความท้าทาย ๔ ประการ ได้แก่ การระบาดใหญ่ของ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้ง และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้นย้ำปัจจัยสำคัญสองประการเพื่อเอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ (๑) การสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมสร้างความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน และ (๒) เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลียในการเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนและกระชับความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย
ในช่วงการเสวนา ผู้ร่วมอภิปรายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยผู้เสวนาได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้อาเซียนรับมือกับความท้าทายรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ และเอื้อต่อการส่งเสริมการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้เน้นย้ำความพร้อมในการเพิ่มพูนความร่วมมือกับอาเซียนในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด
กิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเน้นย้ำบทบาทนำของไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสะท้อนบทบาทของอาเซียนในการร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่ออนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติในระดับโลกด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ