เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๖.๓๐ - ๑๗.๐๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือทวิภาคีกับนายยุน ซ็อก ย็อล (Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นครั้งแรกภายหลังที่ประธานาธิบดียุนฯ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงพนมเปญ
นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของรัฐบาลไทยที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในโอกาสที่ไทยและเกาหลีใต้ครบรอบ ๑๐ ปีความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partneship) ในปีนี้ (เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๕) และการย่างเข้าสู่การครบรอบ ๖๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน (เดือนตุลาคม ๒๕๖๕ - เดือนกันยายน ๒๕๖๖) รวมทั้งได้เชิญประธานาธิบดีเกาหลีใต้เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อโอกาสอำนวย เพื่อหารือแนวทางขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้สู่อนาคตร่วมกันต่อไป
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ในมิติต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายในบริบทภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงและความผันผวนในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมย้ำการเชิญชวนให้ฝ่ายเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ อาทิ 5G อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เมืองอัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ หุ่นยนต์ (robotics) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) ดิจิทัล อุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งสาขาเศรษฐกิจ BCG นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และการท่องเที่ยวให้มีความก้าวหน้าต่อไป
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคที่สนใจร่วมกัน ซึ่งรวมถึงสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี และฝ่ายไทยได้แสดงความขอบคุณที่ฝ่ายเกาหลีใต้ได้ให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค (APEC) ของไทยในปี ๒๕๖๕ ซึ่งขับเคลื่อนแนวคิด BCG มาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมย่านอิแทวอน กรุงโซล เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตชาวไทย ๑ ราย และขอบคุณรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งศพกลับมาไทยและดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นอย่างดีด้วย
ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศได้เป็นสักขีพยานการลงนามปฏิญญาร่วม (Joint Declaration) ว่าด้วยแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๗๐) (Joint Action Plan towards strengthening Strategic Partnership between the Kingdom of Thailand and the Republic of Korea (2022-2027)) ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ในห้วงระยะเวลา ๕ ปีข้างหน้า (๒๕๖๕ - ๒๕๗๐) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการกำหนดสาขาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย ? เกาหลีใต้ ๖ ด้าน ที่สะท้อนถึงการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและศักยภาพของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ได้แก่ (๑) การเมืองและความมั่นคง (๒) การแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนและวัฒนธรรม (๓) สาธารณสุข (๔) อุตสาหกรรมอนาคตและการค้า (๕) เศรษฐกิจสีเขียว และ (๖) การพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ