กรุงเทพ--4 เม.ย.--กระทรวงการต่างประเทศ
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Summit — GMS Summit) ครั้งที่ 3 ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 30 -31 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี และการประชุมครั้งนี้มีผู้นำประเทศสมาชิก GMS 6 ประเทศ เข้าร่วมประกอบด้วย กัมพูชา จีน ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม
หัวข้อหลักของการประชุมฯ คือ “Enhancing Competitiveness through Greater Connectivity” หรือการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยขยายการเชื่อมโยงของประเทศในอนุภูมิภาค ซึ่งเน้นความร่วมมือในการวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดในระยะยาว โดยประเด็นที่ได้มีการหารือในการประชุม คือ 1) การส่งเสริมการเชื่อมโยงในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยสำคัญในการการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง เพื่อเปลี่ยนจาก Transport Corridors into Economic Corridors 3) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อการขยายธุรกิจและการลงทุนในประเทศสมาชิก 4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน 5) บทบาทของการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน 6) ความร่วมมือของ GMS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยในแต่ละหัวข้อมีผู้นำของแต่ละประเทศกล่าวนำ
นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้กล่าวนำในหัวข้อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นว่าในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญ ผู้นำจึงต้องร่วมกันกำหนดทิศทางให้ชัดเจนใน 3 ประเด็น คือ 1) ต้องเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้ปรับตัวในยุคโลกาภิวัตน์ ไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ 2) ต้องสร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชนในเรื่องการมีสุขภาพดี งานที่มั่นคง รายได้ดี ลดปัญหาสังคม และ 3) ต้องให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนุภูมิภาคอย่างเสรีขึ้นเนื่องจากการมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและความรู้
นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษา เพราะไทยมีความพร้อมเนื่องจากสถาบัน การศึกษาของไทยหลายแห่งมีการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาภายในกลุ่ม GMS และสถาบันการศึกษาของประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งมีหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษ และไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค เพราะเป็นที่ตั้งของสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development) นอกจากนั้น ยังได้แจ้งที่ประชุมด้วยว่าที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการในด้านทุนการศึกษาและฝึกอบรมแล้วเป็นจำนวน 5,500 รายการ
การส่งเสริมความเชื่อมโยงในด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกวาระหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างมากในที่ประชุม โดยเน้นให้ที่ประชุมเร่งรัดการพัฒนาเส้นทางหลักในกรอบ GMS ให้สมบูรณ์ ทั้ง East-West Corridor, North-South Corridor และ Southern Corridor และนอกเหนือจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องกับผู้นำจีนและกัมพูชาที่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการคมนาคมในระบบอื่นๆ เช่น การขนส่งทางรถไฟ และทางน้ำ
ข้อเสนอริ่เริ่มสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุม คือ แนวคิดในการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อการท่องเที่ยว (GMS Tourism Loop) เชื่อมโยง 22 เมือง โดยเมืองสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพฯ ไปย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เชียงตุง (พม่า) เชียงรุ้งหรือจิ่งหง (จีน) วกกลับมาเชียงรายต่อไปที่เมืองหลวงพระบาง (ลาว) ฮานอย เว้ โฮจิมินส์ (เวียดนาม) และข้ามมายังพนมเปญ เสียมราฐ (กัมพูชา) เพื่อเยี่ยมชมนครวัด และกลับมาเข้าไทยพักที่พัทยา โดยในการพัฒนาเส้นทางเหล่านี้ จะเชิญชวนให้ภาคเอกชนทั้งในและนอกภูมิภาคเข้ามาลงทุน เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการต่างๆ เช่น โรงแรมรีสอร์ท สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกท้องถิ่น ซึ่งรวมทั้งสินค้า OTOP และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น บริษัทรถเช่า ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศในอนุภูมิภาคจะได้รับนอกจาการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ เหล่านี้ ยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในด้านการค้าและการลงทุน และเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนท้องถิ่นตามแนวเส้นทาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ
นอกจากการประชุมระหว่างผู้นำแล้ว ผู้นำทั้ง 6 ประเทศได้พบและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้นำภาคเอกชน และกับผู้นำเยาวชน เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจจัดตั้งกลไกเพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเส้นทางคมนาคม (MoU toward Sustainable and Balanced Development of the GMS North-South Economic Corridor and Enhanced Organizational Effectiveness for Developing Economic Corridor) และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงาน (MoU on the Road Map for Implementing the GMS Cross Border Power Trading) เข้าร่วมพิธีการฉลองความสำเร็จของเส้นทางหมายเลข 3 และพิธีฉลองความสำเร็จของการเชื่อมโยงโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเขตที่ไกลความเจริญให้เชื่อมต่อกันเพื่อกระจายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมและความเจริญให้ไปถึง
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Summit — GMS Summit) ครั้งที่ 3 ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 30 -31 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี และการประชุมครั้งนี้มีผู้นำประเทศสมาชิก GMS 6 ประเทศ เข้าร่วมประกอบด้วย กัมพูชา จีน ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม
หัวข้อหลักของการประชุมฯ คือ “Enhancing Competitiveness through Greater Connectivity” หรือการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยขยายการเชื่อมโยงของประเทศในอนุภูมิภาค ซึ่งเน้นความร่วมมือในการวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางคมนาคมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดในระยะยาว โดยประเด็นที่ได้มีการหารือในการประชุม คือ 1) การส่งเสริมการเชื่อมโยงในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยสำคัญในการการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่ง เพื่อเปลี่ยนจาก Transport Corridors into Economic Corridors 3) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อการขยายธุรกิจและการลงทุนในประเทศสมาชิก 4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน 5) บทบาทของการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน 6) ความร่วมมือของ GMS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยในแต่ละหัวข้อมีผู้นำของแต่ละประเทศกล่าวนำ
นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้กล่าวนำในหัวข้อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นว่าในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญ ผู้นำจึงต้องร่วมกันกำหนดทิศทางให้ชัดเจนใน 3 ประเด็น คือ 1) ต้องเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้ปรับตัวในยุคโลกาภิวัตน์ ไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ 2) ต้องสร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชนในเรื่องการมีสุขภาพดี งานที่มั่นคง รายได้ดี ลดปัญหาสังคม และ 3) ต้องให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนุภูมิภาคอย่างเสรีขึ้นเนื่องจากการมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและความรู้
นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษา เพราะไทยมีความพร้อมเนื่องจากสถาบัน การศึกษาของไทยหลายแห่งมีการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาภายในกลุ่ม GMS และสถาบันการศึกษาของประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งมีหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษ และไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค เพราะเป็นที่ตั้งของสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development) นอกจากนั้น ยังได้แจ้งที่ประชุมด้วยว่าที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการในด้านทุนการศึกษาและฝึกอบรมแล้วเป็นจำนวน 5,500 รายการ
การส่งเสริมความเชื่อมโยงในด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกวาระหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างมากในที่ประชุม โดยเน้นให้ที่ประชุมเร่งรัดการพัฒนาเส้นทางหลักในกรอบ GMS ให้สมบูรณ์ ทั้ง East-West Corridor, North-South Corridor และ Southern Corridor และนอกเหนือจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องกับผู้นำจีนและกัมพูชาที่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการคมนาคมในระบบอื่นๆ เช่น การขนส่งทางรถไฟ และทางน้ำ
ข้อเสนอริ่เริ่มสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุม คือ แนวคิดในการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อการท่องเที่ยว (GMS Tourism Loop) เชื่อมโยง 22 เมือง โดยเมืองสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพฯ ไปย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เชียงตุง (พม่า) เชียงรุ้งหรือจิ่งหง (จีน) วกกลับมาเชียงรายต่อไปที่เมืองหลวงพระบาง (ลาว) ฮานอย เว้ โฮจิมินส์ (เวียดนาม) และข้ามมายังพนมเปญ เสียมราฐ (กัมพูชา) เพื่อเยี่ยมชมนครวัด และกลับมาเข้าไทยพักที่พัทยา โดยในการพัฒนาเส้นทางเหล่านี้ จะเชิญชวนให้ภาคเอกชนทั้งในและนอกภูมิภาคเข้ามาลงทุน เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการต่างๆ เช่น โรงแรมรีสอร์ท สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกท้องถิ่น ซึ่งรวมทั้งสินค้า OTOP และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น บริษัทรถเช่า ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศในอนุภูมิภาคจะได้รับนอกจาการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ เหล่านี้ ยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในด้านการค้าและการลงทุน และเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนท้องถิ่นตามแนวเส้นทาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ
นอกจากการประชุมระหว่างผู้นำแล้ว ผู้นำทั้ง 6 ประเทศได้พบและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้นำภาคเอกชน และกับผู้นำเยาวชน เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจจัดตั้งกลไกเพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเส้นทางคมนาคม (MoU toward Sustainable and Balanced Development of the GMS North-South Economic Corridor and Enhanced Organizational Effectiveness for Developing Economic Corridor) และบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงาน (MoU on the Road Map for Implementing the GMS Cross Border Power Trading) เข้าร่วมพิธีการฉลองความสำเร็จของเส้นทางหมายเลข 3 และพิธีฉลองความสำเร็จของการเชื่อมโยงโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเขตที่ไกลความเจริญให้เชื่อมต่อกันเพื่อกระจายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมและความเจริญให้ไปถึง
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-