งานเสวนาวิชาการเรื่อง “เส้นทางมิตรภาพ ๒ ทศวรรษ ไทย - ติมอร์-เลสเต และก้าวต่อไปในอนาคต”

ข่าวต่างประเทศ Monday December 26, 2022 14:32 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ และสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง ?เส้นทางมิตรภาพ ๒ ทศวรรษ ไทย - ติมอร์-เลสเต และก้าวต่อไปในอนาคต? เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (ติมอร์ฯ) ในปีนี้เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แก่สาธารณชนไทย โดยเฉพาะบทบาทของไทยในประชาคมระหว่างประเทศในมิติด้านการรักษาสันติภาพและการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา ตลอดจนทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี และโอกาสและศักยภาพในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจด้วย

ในช่วงการกล่าวนำ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ฯ ประจำประเทศไทย ได้ย้ำว่าความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยกับติมอร์ฯ ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องในห้วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา เกิดจากการเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้ครอบคลุมและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในห้วงที่ติมอร์ฯ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในอนาคต ถือเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่มีกำเนิดมาช้านาน และยังมีอนาคตอีกยาวไกล

ในการเสวนาช่วงที่ ๑ หัวข้อ ?ความสัมพันธ์ของไทย - ติมอร์ฯ ในช่วงเริ่มต้น? เป็นการปูพื้นด้านประวัติศาสตร์ของติมอร์ฯ และจุดเริ่มต้นมิตรภาพของไทยกับติมอร์ฯ ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย พล.ท. นพดล มังคละทน อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก นายกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลีคนแรก ผศ.ดร. อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ โดยวิทยากรได้บอกเล่าพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของติมอร์ฯ ตั้งแต่ช่วงที่ยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของโปรตุเกสจนถึงการก่อร่างสร้างชาติภายหลังได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี ๒๕๔๕ รวมถึงบทบาทของไทยในการรักษาสันติภาพในติมอร์ฯ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการรักษาความมั่นคงและการพัฒนา การแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการทำการเกษตรเพื่อช่วยสร้างอาชีพและส่งเสริมความกินดีอยู่ดี นอกจากนี้ ยังได้อภิปรายเกี่ยวกับบริบทของสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์การอ้างภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในขณะนั้น ที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นสำคัญ และเมื่อไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับติมอร์ฯ ก็ได้ริเริ่มความร่วมมือกับติมอร์ฯ ซึ่งขยายตัวมาจนถึงปัจจุบัน

ในการเสวนาช่วงที่ ๒ หัวข้อ ?เส้นทางมิตรภาพ ๒๐ ปี ไทย - ติมอร์-เลสเต และก้าวต่อไปในอนาคต? เป็นการอภิปรายถึงโอกาสการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในติมอร์ฯ และทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับติมอร์ฯ ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายเอกพล พูลพิพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี นางสาววินิตา จามิกรณ์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้บริหารบริษัท สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ จำกัด (มหาชน) และนายสุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์มุมมองใหม่และกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ได้บอกเล่าข้อมูลพัฒนาการของติมอร์ฯ ในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยย้ำศักยภาพและโอกาสด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ซึ่งไทยน่าจะสร้างเสริมความร่วมมือกับติมอร์ฯ เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายผลจุดแข็งของติมอร์ฯ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ การมีภูมิประเทศที่สวยงามซึ่งสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพสูง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ อย่างไรก็ดี ติมอร์ฯ ยังเป็นประเทศน้องใหม่ที่มีอายุ ๒๐ ปี จึงยังมีความท้าทายในการพัฒนาประเทศและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น มิตรประเทศ รวมถึงไทย สามารถสนับสนุนติมอร์ได้อีกมาก ซึ่งผู้เข้าร่วมการเสวนา ซึ่งรวมทั้งนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอแนวทางให้ไทยกระชับความร่วมมือกับติมอร์ในอนาคต อาทิ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างการเงินและการธนาคาร การบริหารราชการ การเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน รวมถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งมิตรประเทศอาจพิจารณาดำเนินความร่วมมือในลักษณะบูรณาการอย่างเป็นระบบ หรือ เป็น ?package? ซึ่งหมายรวมถึงการสนับสนุนความพร้อมให้ติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ ๑๑ ได้ในอนาคตอันใกล้

นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้กล่าวปิดงานเสวนา โดยขอบคุณผู้ร่วมจัดงานครั้งนี้ และย้ำถึงโอกาสของภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน ที่จะขยายความร่วมมือกับติมอร์ฯ ในโอกาสที่ติมอร์ฯ กำลังจะเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน

อนึ่ง ในงานเสวนาดังกล่าว ได้มีการเปิดตัวหนังสือรวมบทความที่บอกเล่าเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในชื่อ ?เส้นทางมิตรภาพ ๒ ทศวรรษ ไทย - ติมอร์-เลสเต? โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือดังกล่าวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้จาก QR Code ด้านล่าง ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศและศูนย์ศึกษาการต่างประเทศจะเผยแพร่คลิปการเสวนาดังกล่าวในช่องทางสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ต่อไป

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ