เมื่อวันที่ ๑๓ ? ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๖ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เยือนบังกลาเทศเพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีไทย - บังกลาเทศ ครั้งที่ ๓ ณ กรุงธากา บังกลาเทศ
ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายย้ำความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศ ซึ่งครบรอบ ๕๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี ๒๕๖๕ โดยมีความสัมพันธ์ระดับประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญ ปัจจุบันการค้าระหว่างกันอยู่ที่ระดับ ๑.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมาก โดยความตกลงการค้าเสรีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมและผลักดันการค้าระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้หารือถึงความร่วมมือด้านความมั่นคง การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขยายความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งไทยเป็นจุดหมายที่เป็นที่นิยมของชาวบังกลาเทศ ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็เห็นพ้องที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านโบราณสถานของศาสนาพุทธที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในไทยและบังกลาเทศ ฝ่ายบังกลาเทศแสดงความสนใจจะเรียนรู้จากไทยด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรและการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศที่สาม ในกรอบพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือผ่านกรอบ BIMSTEC ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำในช่วงปลายปี ๒๕๖๖ ซึ่งฝ่ายไทยแสดงความหวังว่า นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศจะสามารถเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคด้วย
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Salman Fazlur Rahman ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายหารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะลู่ทางในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ รวมไปถึงการขยายความร่วมมือไปยังสาขาอื่นที่มีศักยภาพ
ในการเดินทางเยือนบังกลาเทศครั้งนี้ มีคณะภาคเอกชนไทยรวม ๑๐ บริษัท ในสาขาต่าง ๆ อาทิ พลังงาน อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ เกษตร ค้าปลีก และการรักษาพยาบาล ร่วมเดินทางเพื่อสำรวจศักยภาพด้านการค้าการลงทุน และเจรจาหาพันธมิตรทางธุรกิจในบังกลาเทศ รวมทั้งรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนจาก Bangladesh Investment Development Authority และ Bangladesh Economic Zones Authority ด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ