เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๖ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ (United Nations Conference Centre: UNCC) ตามคำเชิญของนางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา (Ms. Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Under-Secretary-General of the UN and Executive Secretary of UNESCAP)
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและคณะ ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันเพื่อเจรจาทำงานกับนางอาร์มิดาและทีมงานในหลากหลายประเด็น ได้แก่ การส่งเสริมให้บริษัทเอกชนไทยดำเนินธุรกิจกับสหประชาชาติโดยผ่านระบบการจัดซื้อ-จัดจ้างของสหประชาชาติ การสนับสนุนให้มีบุคลากรไทยเข้าไปปฏิบัติงานในองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และการเตรียมการสู่การประชุมที่กำลังจะมีขึ้นที่เอสแคปสองรายการ ได้แก่ การประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๒๗ ? ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ และการประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ ๗๙ (79th ESCAP Commission Session) ระหว่างวันที่ ๑๕ ? ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖
หลังจากนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เยี่ยมชม UNCC กรุงเทพฯ รวมถึงการติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อให้อาคารของเอสแคป มีความทันสมัยและสามารถรับมือกับความสะเทือนจากแผ่นดินไหว (Seismic mitigation retrofit and life-cycle replacements project at the ESCAP premises in Bangkok: SMP) โดยได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงาน ซึ่งโครงการ SMP จะทำให้อาคารสำนักงานเอสแคปมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่และแขกผู้มาเยือน พร้อมยินดีที่โครงการจะแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดภายในปีนี้ โดยไทยในฐานะประเทศเจ้าบ้านได้พยายามสนับสนุนโครงการนี้มาโดยตลอด ทั้งจากการมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเจรจางบประมาณในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ การอำนวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและเอสแคป และการส่งเสริมการใช้วัสดุ องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญท้องถิ่น
โครงการ SMP เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารที่สำคัญโครงการหนึ่งของสหประชาชาติ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๑ (UNGA71) เมื่อปี ๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๖) ซึ่งได้ให้การเห็นชอบกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการ ๖ ปี ภายในวงเงิน ๔๐.๐๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๑.๓ พันล้านบาท
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ