เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์กับเพื่อติดตามผลการเยือนไทยของผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (DG ENV) ของสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และหารือกับหน่วยงานไทยเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Regulation on Deforestation-Free Products) ของอียู ซึ่งอาจกระทบการส่งออกของสินค้าเกษตรหลายประเภท โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางซึ่งไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังอียูที่สูงมาก
นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป เป็นประธานการประชุมฯ โดยฝ่ายไทยที่เข้าร่วม ประกอบด้วย กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ และการยางแห่งประเทศไทย ส่วนผู้แทนฝ่ายอียูประกอบด้วย Ms. Helge Elisabeth Zeitler ตำแหน่ง Deputy Head of Unit, Planetary Common Goods, Universal Values & Environmental Security จาก DG ENV และผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลการเยือนไทยของ Ms. Zeitler เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยเน้นผลักดันความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนช่วยภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยในการเตรียมความพร้อมสำหรับกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการทำการศึกษาถึงผลกระทบของกฎหมายฯ ต่อไทย และการจัด workshop เพื่อช่วยเกษตรกรไทยในการเตรียมความพร้อมทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงทีก่อนที่อียูจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฯ อย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี ๒๕๖๗
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้าใจทั้งระหว่างหน่วยงานไทยด้วยกันเองและระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายอียูเกี่ยวกับกฎหมายฯ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการดำเนินความร่วมมือเพื่อรับมือกับกฎหมายดังกล่าว และพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกรไทยต่อไป
กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า จะกำหนดให้บริษัทอียูที่นำเข้าสินค้าที่เป็นสาเหตุหลักของการทำลายป่าตามที่ระบุในกฎหมายฯ รวม ๗ รายการ ได้แก่ ไม้ วัว โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และยางพารา จะต้องจัดทำรายงานหรือ due diligence statement ยืนยันว่าได้ตรวจสอบและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับรองว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ