เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๖ นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership: MUSP) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลุ่มมิตรลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong: FOM) ที่เวียงจันทน์ สปป. ลาว
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส MUSP ซึ่งมี ดร. จุง เอช พัค รองผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และนายกิ่งโพแก้ว พมมะหาไซ อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เป็นประธานร่วม ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขงในช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร อาชญากรรมข้ามชาติ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในโอกาสนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสไทยได้กล่าว ถ้อยแถลง สนับสนุนการดำเนินการของ MUSP ผ่านกลไกหลายระดับในการส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาค
ส่วนต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคฯ มีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือทางนโยบาย และเห็นว่า ในระยะยาว MUSP ควรส่งเสริมให้โครงการและกิจกรรมความร่วมมือมีลักษณะมุ่งเน้นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศลุ่มน้ำโขงในด้านการเจริญเติบโตอย่างยืดหยุ่น มีความเป็นอัจฉริยะ คาร์บอนต่ำและยั่งยืน
ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารแผนงานของประธานร่วม MUSP ประจำปี ๒๕๖๖ (MUSP Co-chairs Concept Note for 2023) ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการ MUSP ฉบับใหม่ ปี ๒๕๖๗ - ๒๕๖๙ (MUSP Plan of Action 2024 - 2026)
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส FOM ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ เป็นประธาน ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ ในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความยืดหยุ่นทางพลังงาน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเอกอัครราชทูตพินทุ์สุดาฯ ได้กล่าวถ้อยแถลง สนับสนุนให้สมาชิก FOM ดำเนินโครงการและกิจกรรมความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ อย่างสอดประสานและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยใช้ประโยชน์จากกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เป็น ?ข้อต่อ? ซึ่งสมาชิก FOM ส่วนใหญ่เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS และส่งเสริมให้ FOM เป็นเวทีในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ ที่ครอบคลุมและเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม นอกจากนี้ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส FOM ยังได้ดำเนินกิจกรรมจับคู่โครงการและกิจกรรมความร่วมมือที่มีลักษณะคล้ายกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ และเปิดตัวแผนปฏิบัติการโครงการหุ้นส่วนพลังงานญี่ปุ่น - สหรัฐฯ - ลุ่มน้ำโขง (Japan - U.S. - Mekong Power Partnership (JUMPP) Action Plan) ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างสอดประสานระหว่างสมาชิก FOM กับประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อส่งเสริมการยกระดับขีดความสามารถด้านพลังงานที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ
อนึ่ง MUSP เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ ที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม และสหรัฐฯ เป็นสมาชิก ซึ่งยกระดับจากข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative: LMI) เมื่อปี ๒๕๖๓ ขณะที่ FOM เป็นเวทีการประสานงานภายใต้ MUSP ระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคฯ ประกอบด้วยสมาชิกจาก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลก และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เชิญอินเดีย สหราชอาณาจักร และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุม FOM ในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ