อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกนำคณะสำรวจเส้นทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ไทย – ลาว - เวียดนาม ตามเส้นทาง R12

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 12, 2023 13:59 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๕ ? ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย และสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ร่วมเดินทางไปสำรวจศักยภาพการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจไทย ? สปป.ลาว ? เวียดนาม ตามเส้นทาง R12 ไปจนถึงโครงการเศรษฐกิจหวุงอ่างในเวียดนาม

เส้นทาง R12 เป็นเส้นทางขนส่งทางบกที่สำคัญระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม และสามารถขนส่งสินค้าต่อไปยังจีนตอนใต้ (มณฑลกว่างซี) ผ่านเครือข่ายถนนในเวียดนามได้ โดยคณะได้เดินทางจากด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๓ จ.นครพนม ผ่าน สปป. ลาว ไปยังด่านสากลชายแดนลาว ? เวียดนาม (นาเพ้า-จาลอ) ระยะทาง ๑๔๗ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางรวม ประมาณ ๔ ชั่วโมง โดยเป็นถนน ๒ ช่องทาง และมีรถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนมาก

ในช่วงการเดินทางภายใน สปป.ลาว คณะ ร่วมกับนางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เยี่ยมชมโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท คำม่วน ซิเมนต์ จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้เครือ SCG ที่ลงทุนผลิตปูนซีเมนต์ในแขวงคำม่วน สปป. ลาว ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยโรงงานได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อใช้ในประเทศ สปป.ลาว และเพื่อส่งออกมาไทย ซึ่งได้สร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่จำนวนมาก

ในช่วงการเดินทางภายในเวียดนาม คณะ ร่วมกับนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจหวุงอ่าง (Vung Ang) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดห่าติ๋ญของทางภาคกลางเวียดนามและห่างจากด่านชายแดนนาเพ้า - จาลอ ๑๔๕ กิโลเมตร โดยคณะได้เยี่ยมชมโครงการท่าเรือที่สำคัญ ๒ โครงการ ได้แก่

(๑) โครงการ Vung Ang ? Son Duong ซึ่งบริษัท Formosa Ha Tinh Steel Corporation (FHS) ของไต้หวัน ได้รับสัมปทานระยะยาวในการพัฒนาโรงงานถลุงเหล็กและท่าเรือน้ำลึกในการขนส่งสินค้า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑

(๒) โครงการ Lao ? Viet International Port ซึ่งเป็นสัมปทานในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อนำเข้า ? ส่งออกในลักษณะการร่วมทุน (Joint Stock) ระหว่างรัฐบาล สปป. ลาว (ร้อยละ ๖๐) และเวียดนาม (ร้อยละ ๔๐) โดยโครงการเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ และมีแผนพัฒนาเป็นจุดนำเข้า - ส่งออก สินค้าประเภทเทกอง (bulk cargo) และตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่าง สปป. ลาว กับภูมิภาคต่าง ๆ และมีแผนพัฒนาท่าเทียบเรือ ๓ แห่งเพื่อรองรับเรือรับส่งสินค้า ปัจจุบัน โครงการได้มีท่าเทียบเรือแล้ว ๑ แห่งพร้อมเครนหน้าท่า ๑ ตัว และมีโกดังพักรอสินค้าอีก ๑ แห่ง โดยโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเทียบเรือแห่งที่ ๒ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่ เช่น แร่เหล็ก แร่โพแทสเซียม ไม้สับ โดยส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และมีการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เชื้อเพลิง และถ่านหินจากอินโดนีเซียและจีน

รัฐบาล สปป.ลาว ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (land-locked to land-linked) โดยรัฐบาล สปป.ลาว ได้มอบสัมปทานให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางรถไฟจากเวียงจันทน์ไปยังท่าเรือหวุงอ่าง ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการแสวงหาผู้สนใจสนับสนุนแหล่งเงินกู้

กระทรวงการต่างประเทศจะนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเส้นทางขนส่งระหว่างไทย - สปป. ลาว ? เวียดนาม ครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและจีน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ