เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) จัดงานสัมมนา ?Doing Business with the United Nations? ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมจากภาคเอกชน สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่สาม ต่อยอดจากงานสัมมนาสองครั้งก่อนหน้านี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้แก่ภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับแนวทางดำเนินธุรกิจและการเข้าเป็นคู่ค้ากับสหประชาชาติ ซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาชาติ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนไทยและขยายลู่ทางในการเข้าถึงตลาดใหม่ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยการบรรยายในครั้งนี้ เน้นสาขาสินค้าและบริการที่สหประชาชาติมีความต้องการสูง อาทิ ICT เชื้อเพลิง การขนส่งทางอากาศ การก่อสร้างและซ่อมแซม และอาหาร
ในการนี้ ผู้เข้าร่วมได้รับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ การลงทะเบียนในระบบ United Nations Market Place (UNGM) (https://www.ungm.org/) ซึ่งรวบรวมข่าวสารและประกาศเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของสหประชาชาติในทุกภูมิภาคทั่วโลก เคล็ดลับและกลยุทธ์ในการยื่นประมูลราคา และการแบ่งปันประสบการณ์ของภาคเอกชนไทยที่มีประสบการณ์ตรงในการดำเนินธุรกิจกับสหประชาชาติ อาทิ บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทอิมเมจเฟอร์นิเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์ที่ชนะการประมูลราคาในโครงการซ่อมแซมและก่อสร้างอาคารสำนักงานที่เอสแคปกรุงเทพฯ และที่คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสหประชาชาติสำหรับแอฟริกา (United Nations Economic Commission of Africa--ECA) ที่กรุงแอดดิส อาบาบา เอธิโอเปีย นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติในลักษณะ One-on-One เพื่อแนะนำบริษัทและสินค้า พร้อมสอบถามและขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาชาติ ซึ่งมีกฎระเบียบและเงื่อนไขที่มีมาตรฐานสูง ให้ความสำคัญกับความถูกต้องโปร่งใส และความคุ้มทุน
อนึ่ง ตามรายงานของ (the Annual Statistical Report on United Nations Procurement ? ASR) ล่าสุดเมื่อปี ๒๕๖๔ มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาชาติในภาพรวมคิดเป็นจำนวน ๒๙.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าและบริการในสาขาสุขภาพ (อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ยาคุมกำเนิดและวัคซีน) มีการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุดในปีดังกล่าว สาเหตุหลักเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-๑๙ นอกจากนี้ ตามสถิติล่าสุดของ UNESCAP เมื่อปี ๒๕๖๕ พบว่า สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretariat) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในไทยรวม ๓๑.๓๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ประมาณ ๑๘.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาขาก่อสร้างเป็นสาขาที่มีมูลค่ามากที่สุด
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ