เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๖ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายโด๋ หุ่ง เหวียต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้เป็นประธานร่วมการประชุม Political Consultation Group (PCG) ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ ๙ ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความเข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership) ระหว่างไทยกับเวียดนามในระยะต่อไป นอกจากนั้น การประชุมดังกล่าวยังจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ไทย ? เวียดนาม ในปีนี้ ?
ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามในระยะต่อไป โดยเห็นพ้องให้สานต่อการแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมระหว่างกันในทุกระดับอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยได้หารือแนวทางการเตรียมการสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำความต่อเนื่องของนโยบายต่างประเทศของไทยที่ให้ความสำคัญกับเวียดนามในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่ใกล้ชิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๖๕ เติบโตถึงร้อยละ ๘.๗๓ เป็น ๒.๑ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมด โดยฝ่ายเวียดนามพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (JTC) ครั้งต่อไป เพื่อหารือแนวทางการบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ ๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๘ นอกจากนั้น ไทยยังเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ ๙ ในเวียดนาม โดยปัจจุบัน มีมูลค่าการลงทุนสะสมกว่า ๑.๓ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลก โดยเห็นพ้องให้เร่งรัดการนำ ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง ๓ ด้าน (Three Connects) ได้แก่ การเชื่อมโยง (๑) ห่วงโซ่อุปทาน (๒) เศรษฐกิจฐานราก และ (๓) ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งครอบคลุมการอำนวยความสะดวกและการลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกัน การใช้ประโยชน์จากความตกลงบ้านพี่เมืองน้อง การจัดกิจกรรม Meet Thailand ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ในเดือนสิงหาคม และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เป็นต้น ? ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน โดยเห็นพ้องที่จะใช้โอกาสครบรอบ ๑๐ ปี การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ไทย ? เวียดนาม ในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ของการมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างประชาชนสองประเทศ นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการเรียนภาษาไทยในเวียดนามและภาษาเวียดนามในไทย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ?
ทั้งสองฝ่ายได้ใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และประเด็นต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในยูเครน ความร่วมมือในกรอบอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งสถานการณ์ในทะเลจีนใต้และเมียนมา โดยเห็นพ้องที่จะประสานท่าทีและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ในโอกาสเยือนเวียดนามในครั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และนายเล หว่าย จุง ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ขอบคุณและขอให้ฝ่ายเวียดนามให้การสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนามอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งรวมถึงการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วนกว่าหนึ่งในสามของการลงทุนของไทยในเวียดนามทั้งหมด
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ