เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นำโดย ส.ส. Young Kim พรรครีพับลิกัน รัฐแคลิฟอร์เนีย ประธานคณะอนุกรรมาธิการอินโด-แปซิฟิก คณะกรรมธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พร้อมด้วย ส.ส. Andy Barr พรรคพับลิกัน รัฐเคนทักกี และ ส.ส. Jasmine Felicia Crockett พรรคเดโมแครต รัฐเท็กซัส ในโอกาสที่คณะได้เดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนภูมิภาค
การเยือนไทยครั้งนี้ของคณะ ส.ส. สหรัฐฯ เป็นโอกาสสำหรับฝ่ายไทยในการกระชับความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ โดยเฉพาะความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
ระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่และครอบคลุมในทุกมิติ และความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - สหรัฐฯ ที่ครบรอบ ๑๙๐ ปีในปีนี้ โดยย้ำความมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ด้านกลาโหมและการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาค ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าการลงทุนสองฝ่ายและการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสำคัญในภูมิภาค และหารือถึงความร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการเจรจาครั้งต่อไปที่กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายน ๒๕๖๖
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญชวนให้คณะ ส.ส. สหรัฐฯ เข้าร่วม U.S. -Thai Alliance Caucus ซึ่งเพิ่งจัดตั้งในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือไทย - สหรัฐฯ และความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนไทยในสหรัฐฯ ด้วย
ภายหลังการหารือ ส.ส. Kim และคณะยังได้เข้าร่วมการสัมมนาธุรกิจ ซึ่งจัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและหารือถึงแนวทางส่งเสริมการขยายการค้าการลงทุนกับผู้บริหารจากภาคเอกชนชั้นนำของไทย ซึ่งรวมถึงโอกาสการลงทุนของบริษัทไทยในสหรัฐฯ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสองประเทศ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และแร่ธาตุหายาก
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ