ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) รอบกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ ไทยและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ ?IPEF: Fostering Competitiveness and Inclusivity for Regional Prosperity? เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมีนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการดำเนินการของไทยใน IPEF กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนาง Sarah Ellerman ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และนาง Sharon Yuan ที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็นประธานร่วมกันดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการดำเนินการของไทยใน IPEF ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ แสดงความเห็นและให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการขับเคลื่อน IPEF เพื่อการเสริมสร้างการเติบโตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาค โดยหลักการของ IPEF ที่มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานความร่วมมือทางการค้าการลงทุนมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญอันดับต้นต่อการดำเนินนโยบายการทูตเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดย IPEF สามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาค การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ทั้งภูมิภาคเจริญเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ ผู้แทนหน่วยงานของภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นและข้อแนะนำที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนความร่วมมือใน ๔ เสาของ IPEF ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือด้านการค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยมีประเด็นที่ผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ให้ความสนใจหยิบยกขึ้นหารือ อาทิ การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาค SMEs การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้าน logistics ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน การปฏิบัติตามมาตรฐาน Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero และการสนับสนุนความร่วมมือภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต
ทั้งนี้ มีผู้สนใจจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งจากภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวมกว่า ๑๓๐ คน จากประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อาทิ ออสเตรเลีย บรูไน มาเลเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และฟิลิปปินส์
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ