ถ้อยแถลงของ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๘
๒๒ กันยายน ๒๕๖๖
สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
ท่านประธาน
ท่านผู้แทนรัฐบาล
ท่านผู้แทนที่มีเกียรติทั้งหลาย
๑. ในนามของคณะผู้แทนไทย ผมขอแสดงความยินดีต่อท่านประธานในโอกาสที่ท่านได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ ๗๘
๒. ประเทศไทยได้เริ่มต้นบทใหม่ของประชาธิปไตย ผมเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ด้วยอาณัติที่ประชาชนได้มอบหมาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันและค่านิยมประชาธิปไตยของไทย และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งต้องเผชิญช่วงเวลาอันยากลำบากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
๓. ในการดำรงความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น เราจะแสดงบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ ในการสร้างพันธมิตรในประชาคมระหว่างประเทศ
๔. รัฐบาลของผมจะยื่นมือเข้าหามิตรและหุ้นส่วนทั่วโลก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น ผ่านการค้า การลงทุน และข้อตกลงทางการค้า
๕. เราพบกันในวันนี้ ในช่วงเวลาของความท้าทายระดับโลกหลายประการ อาทิ สันติภาพโลกที่เปราะบาง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกที่ถดถอยลง
๖. ความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยระบอบพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ ไทยมีความตั้งใจที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้โดยตรง
ท่านประธานที่เคารพ
๗. สหประชาชาติได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อเกือบแปดสิบปีที่ผ่านมาเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ทุกวันนี้ เรายิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องวางรากฐานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งของประชาชน
โดยแสวงหาสันติภาพที่ยั่งยืน
๘. ในการนี้ ประเทศไทยขอชื่นชมกับความพยายามของเลขาธิการสหประชาชาติในการจัดทำวาระใหม่เพื่อสันติภาพ (New Agenda for Peace)
๙. เราเชื่อว่า วาระนี้จะขับเคลื่อนความพยายามที่จะฟื้นฟูระบอบพหุภาคีและเสริมสร้างบทบาทของสหประชาชาติในฐานะเวทีของการบรรลุสันติภาพโลก
๑๐. วิสัยทัศน์ของไทยต่อระบอบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ คือต้องมีความครอบคลุม ต้านทานและมุ่งเน้นผลลัพธ์
๑๑. ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศและความรุนแรงที่ทวีคูณ ตลอดจนระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ไทยยึดมั่นที่จะรักษาสันติภาพและการไม่แบ่งแยก
๑๒. ประเทศไทยจะดำเนินความสัมพันธ์อย่างสันติและสร้างสรรค์กับประชาคมระหว่างประเทศเราเชื่อมั่นว่า สันติภาพที่ยั่งยืนจะมาจากการเสริมสร้างความสัมพันธ์พหุภาคี บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ความเข้าใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน
ท่านประธานที่เคารพ
๑๓. สันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความเชื่อมโยงกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงมุ่งมั่นทำงานเพื่อยกระดับความเท่าเทียมและความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ
๑๔. เรามีแผนที่จะเสริมสร้างหลักนิติธรรมและเพิ่มความโปร่งใสภายในรัฐบาล เรารับรองว่า กฎหมายจะมีความยุติธรรม มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และนำมาบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม
๑๕. ประเทศไทยเป็นผู้สมัครของอาเซียนในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ Human Rights Council วาระปี ๒๕๖๘ - ๒๕๗๐ (ค.ศ. ๒๐๒๕ ? ๒๐๒๗)ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจของไทยในการเดินหน้าสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
๑๖. เราจะสร้างหลักประกันว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะมีความพร้อม เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน และมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการทำงานเชิงบวกในประชาคมระหว่างประเทศ
๑๗. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ของไทยซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๕ ได้สร้างหลักประกันให้ประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการให้บริการสุขภาพที่จำเป็นทั้งในเชิงป้องกันและรักษาโรคตลอดช่วงชีวิต
๑๘. ในปีต่อ ๆ ไป เรามีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อปรับปรุงคุณภาพโครงการและเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนมีอิสระในการเลือกผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง
๑๙. การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า การเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูงจะยังคงป็นสิทธิสำหรับทุกคน
๒๐. การระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งล่าสุดได้ให้บทเรียนแก่เราว่า การเข้าถึงการบริการทางสุขภาพเป็นหนึ่งในการบริการพื้นฐานที่มีความสำคัญสูงสุดที่รัฐบาลสามารถมอบให้แก่ประชาชน
๒๑. การจัดการกับโรคติดต่อไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของโลก สถาปัตยกรรมด้านสุขภาพระดับโลกจึงควรได้รับการปฏิรูปและเสริมสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
๒๒. เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคระบาด เพื่อให้พวกเรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขระดับโลกที่มีความต้านทาน ตอบสนอง และพร้อมสำหรับการอุบัติของโรงระบาดในอนาคตมากยิ่งขึ้น
๒๓. ไทยยินดีกับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) ซึ่งเน้นย้ำว่าความยั่งยืนเป็นหนทางเดียวที่จะปกป้องโลกของเราและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบันยังคงมีความท้าทาย โดยมีเพียงร้อยละ ๑๒ ของเป้าหมายที่สามารถดำเนินการตามแผน
๒๔. ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเร่งรัดการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐
๒๕. ในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ ดูแลประชาชน รัฐบาลไทยจึงได้วางแผนที่จะออกนโยบายเพื่อกระตุ้นการสร้างงานและให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ
๒๖. สิ่งนี้จะช่วยสร้างความเท่าเทียมและสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น
๒๗. ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไทยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่สมดุล มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีความยั่งยืน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาของไทยมาอย่างยาวนาน ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมความสมดุลในทุกมิติ
๒๘. โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการต่อยอดมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
๒๙. ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแนวคิด แต่มีการดำเนินการจริงในประเทศไทย เช่น โครงการนำร่องของโมเดลเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการปรับแนวคิดทางเกษตรกรรม วิธีการเพาะปลูกและการจัดการน้ำ
๓๐. เรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรทั่วประเทศ
๓๑. ไทยพร้อมที่จะสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านความร่วมมือใต้-ใต้และความร่วมมือไตรภาคี
๓๒. ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อน
การพัฒนาที่ยั่งยืน และเสริมสร้างความต้านทาน
ท่านประธานที่เคารพ
๓๓. เดือนกรกฎาคมปีนี้ เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดที่ได้เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ สอดคล้องกับคำกล่าวของเลขาธิการสหประชาชาติที่ว่า ?ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลง และยุคโลกเดือดได้มาถึงแล้ว? วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่เร่งด่วนที่สุด ที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการดำเนินการแก้ไขทันที
๓๔. ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงยินดีกับการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) เพื่อเร่งรัดการดำเนินการในการบรรเทาผลกระทบที่ร้ายแรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่
๓๕. โดยเราจะต้องร่วมกันแสวงหาแนวทางในการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันจากสภาพภูมิอากาศ
๓๖. ในขณะที่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกยังคงเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารและภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรชั้นนำกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
๓๗. เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก เราพยายามอย่างแข็งขันเพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำและเทคนิคการเกษตร เพื่อให้มั่นใจว่าความมั่นคงทางอาหารจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง
๓๘. ไทยเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโลกนี้เพื่อบรรลุอนาคตที่ยั่งยืน ไทยกำลังดำเนินกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตร ?Sustainability Linked Bonds? และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ขณะเดียวกันก็มีส่วนร่วมในความพยายามในการจัดการกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
๓๙. ในส่วนของไทย เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามคำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ ๔๐ ภายในปี ๒๕๘๓ (ค.ศ. ๒๐๔๐) บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ๒๕๙๓ (ค.ศ. ๒๐๕๐) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ๒๖๐๘ (ค.ศ. ๒๐๖๕) โดยการบูรณาการการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด
๔๐. แผนพลังงานแห่งชาติของไทยได้รวบรวมเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และปรับระบบขนส่งภายในประเทศด้วยการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ท่านประธานที่เคารพ
๔๑. สหประชาชาติคือปณิธานร่วมกันของประชาคมโลก เราจึงต้องเพิ่มความพยายามเพื่อทำให้ องค์กรนี้เป็นตัวแทนของมวลมนุษยชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
๔๒. ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมสุดยอด Summit of the Future จะส่งเสริมอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน บนพื้นฐานของระบอบพหุภาคี ที่มีสหประชาชาติเป็นหางเรือผลักดันการเดินหน้าไปสู่สันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน
๔๓. ไทยเชื่อมั่นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องดำเนินการตามวาระที่เรามีร่วมกันเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนสำหรับทุกคน
๔๔. เราขอเชิญชวนทุกประเทศให้เพิ่มความทะเยอทะยานมากขึ้นในการบรรลุเป้าหมายของเรา เร่งรัดการดำเนินการและทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ด้วยความร่วมมือพร้อมกันเท่านั้น ที่พวกเราจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้
ขอบคุณครับ
- * * * *
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ