นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานการประชุมใหญ่สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๗ ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 28, 2023 13:40 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖ นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน (President) การประชุมใหญ่สมัยสามัญ สมัยที่ ๖๗ ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ? IAEA) โดยการปรบมือ (acclamation)

IAEA เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีอาณัติในการสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติอย่างปลอดภัยและมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งสร้างและบริหารจัดการด้านการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศระหว่างประเทศ รวมทั้งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ การประชุมใหญ่สมัยสามัญ เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดภายใต้ IAEA ประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐสมาชิก IAEA ทั้งหมด จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี มีหน้าที่ในการพิจารณาและเห็นชอบงบประมาณประจำปีของ IAEA และตัดสินประเด็นสำคัญอื่น ๆ ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมการผู้ว่าการ (Board of Governors) ผู้อำนวยการใหญ่ IAEA และรัฐสมาชิก

ไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งของ IAEA ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติมาโดยตลอด รวมทั้งในสาขาการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ภายใต้กรอบ IAEA รวมทั้งภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการวิจัย พัฒนา และฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Regional Cooperative Agreement for Research, Development and Training Related to Nuclear Science and Technology for Asia and the Pacific ? RCA) และกรอบระดับภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ และเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน (ASEANTOM) และเครือข่ายพิทักษ์ความปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Safeguards Network ? APSN)

การดำรงตำแหน่งประธานการประชุมใหญ่ IAEA เป็นการส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติและในการเสริมสร้างความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ และการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก IAEA ในเรื่องดังกล่าว

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ