เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานจัดโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ ?มุ่งสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีความยืดหยุ่น เท่าเทียม และยั่งยืนมากขึ้น ในปี ๒๕๗๓ - การเข้าถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และข้อริเริ่มด้านการลงทุนที่สร้างความการเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพโลก? (?Toward more resilient, equitable and sustainable Universal Health Coverage (UHC) in 2030 ? Equitable Access to Medical Countermeasures (MCMs) and Impact Investment Initiative (Triple I) for Global) Health?
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงสัปดาห์ผู้นำของการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ โดยมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นประธานและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านสุขภาพทั่วโลกเข้าร่วม เช่น ประธาน G20 WHO UNICEF และ Gavi, the Vaccine Alliance รวมถึงภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทางการบรรลุเป้าหมายเรื่อง UHC ที่มีความยืดหยุ่น เท่าเทียม และยั่งยืนมากขึ้น ผ่านนวัตกรรมทางสังคมและการเงิน เช่น ความพยายามในการเพิ่มการเข้าถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม และแนวทางใหม่ในการจัดหาเงินทุนผ่านข้อริเริ่ม Impact Investments Initiative (Triple I) for Global Health นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเวทีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแบ่งปันวิสัยทัศน์และนำเสนอความก้าวหน้าต่อประชาคมระหว่างประเทศในการเนินการเพื่อบรรลุ UHC พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลงทุนด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตมากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาสินค้าสาธารณะโลกด้านสาธารณสุข
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้กล่าวยกย่องความเป็นผู้นำของญี่ปุ่นในการริเริ่มกลไกความเป็นหุ้นส่วนเรื่องการจัดจัดส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเวชภัณฑ์ฯ อย่างเท่าเทียม (Medical Countermeasures Delivery Partnership for Equitable Access: MCDP) และข้อริเริ่มด้านการลงทุนที่สร้างความการเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพโลก (Triple I for Global Health) ซึ่งมีการรับรองในช่วงการประชุมสุดยอด G7 ที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยข้อริเริ่มทั้งสองเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมทางสังคมและการเงินที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายเรื่อง UHC ภายในปี ๒๕๗๓ รวมทั้งช่วยสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขโลก
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่าประเทศไทยจะลงทุนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป รวมทั้งผ่านการยกระดับ ?นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค? ด้วยการขยายชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม การส่งเสริมสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการรับบริการด้านสาธารณสุขในทุกระดับ
อีกทั้งยังเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำงานร่วมกันเพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึง SDG ที่ ๓ ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ที่เกิดความล่าช้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลัง COVID-19 อย่างยั่งยืนต่อไป
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่มีบทบาทแข็งขันในการเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในระดับโลก
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ