เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในช่วงสัปดาห์ผู้นำของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ (UNGA78) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสำคัญ อาทิ ผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก ผู้สังเกตการณ์สมัชชาสหประชาชาติและระบบสหประชาชาติ องค์กรภาคปะชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเอกชน
ที่ประชุมได้ทบทวนการดำเนินการตามปฏิญญาการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ค.ศ. ๒๐๑๙ อย่างครอบคลุม เพื่ออุดช่องว่างและหาแนวทางแก้ไขในการเร่งให้เกิดความก้าวหน้าสู่การบรรลุเป้าหมาย UHC ภายในปี ๒๕๗๓ โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของ UHC ที่เป็นรากฐานสำคัญของนโยบายสุขภาพและความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย นอกจากนี้ ยังนำเสนอบทเรียนที่ไทยได้เรียนรู้จากการดำเนินงานด้าน UHC มาตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ดังนี้
(๑) การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับ UHC เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากความคิดเห็นของประชาชนช่วยให้ UHC สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโรค และสังคมผู้สูงอายุ
(๒) การดำเนินงานด้าน UHC ต้องกระทำควบคู่กับการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เนื่องจากมาตรการป้องกันโรคเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อการส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีและลด?ความเสี่ยงต่อสุขภาพ
(๓) การสร้างนวัตกรรมทางสังคมจะนำไปสู่การพัฒนา UHC ที่สร้างสรรค์ เช่น การมีส่วนร่วมของสถานบริการด้านสาธารณสุขของเอกชนภายใต้ UHC และการใช้ big data เกี่ยวกับความชุกของโรคและผลการรักษาเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ
(๔) ความจำเป็นที่จะต้องปรับ UHC ให้เข้ากับพัฒนาการใหม่ ๆ โดยดำเนินการสุขภาพดิจิทัลภายใต้ UHC เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของบริการและส่งเสริมความเท่าเทียมด้านสุขภาพ ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำว่า ประเทศไทยจะลงทุนใน UHC ต่อไป ทั้งผ่านการยกระดับ ?นโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค? ด้วยการขยายชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม การส่งเสริมสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการรับบริการด้านสาธารณสุขในทุกระดับ
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้เรียกร้องให้ที่ประชุมคงความมุ่งมั่นในเรื่อง UHC โดยชูให้เรื่อง UHC เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นในตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ (?Pandemic Treaty?) ในกรอบองค์การอนามัยโลก และเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความความเท่าเทียมและครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ ได้รับรองปฏิญญาการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฉบับใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๓) ซึ่งมีเนื้อหาเสริมปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ซึ่งจะมีการเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเพื่อรับรองต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ