กระทรวงการต่างประเทศขอร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จของการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๓๖ น. (ตามเวลาในประเทศไทย) จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) จังหวัดเฟรนช์เกียนา ซึ่งเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาใต้ ด้วยจรวดนำส่ง Vega ก่อนจะเข้าสู่วงโคจรในเวลา ๐๙.๓๐ น. ท่ามกลางสักขีพยานจากประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ณ บริเวณท่าอวกาศยาน รวมถึงประชาชนทั่วโลกที่สนใจในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้
ภารกิจการสร้างและการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรมีนัยสำคัญต่อความก้าวหน้าของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งผู้นำไทยและฝรั่งเศส เห็นชอบร่วมกันในการเพิ่มพลวัตและยกระดับความร่วมมือในสาขาดังกล่าว ให้เอื้อประโยชน์ร่วมกันยิ่งขึ้นและสนองตอบเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับแผนการดำเนินโครงการ "ปีนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส ๒๕๖๖" ซึ่งเป็นโครงการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้ต่อไปในอนาคต
ในโอกาสนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดี โดยมีใจความส่วนหนึ่งว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ผมขอแสดงความยินดีที่วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จสามารถส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นมาตลอดว่าจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 นี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการเกษตร การบริหารจัดการเมือง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ซึ่งจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงของพี่น้องประชาชน ดาวเทียม THEOS-2 นับว่าเป็นสมบัติของพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นดาวเทียมที่สามารถบันทึกภาพได้รายละเอียดสูงมากถึง ๕๐ เซนติเมตรต่อ pixel ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สูงมาก ดีที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เทียบชั้นได้กับดาวเทียมรายละเอียดสูงของกลุ่มประเทศผู้นำระดับโลก นอกจากนี้ THEOS-2 จัดว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ที่เป็นความภาคภูมิใจของพวกเรา ทั้งนี้ผมขอขอบคุณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และองค์การอวกาศของประเทศอย่าง GISTDA ที่จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันวงการอวกาศของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อต่อยอดการพัฒนาทั้งสังคมและเศรษฐกิจของประเทศสืบไป
ด้าน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรเป็นที่เรียบร้อย นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและประเทศไทยอย่างมากที่ร่วมกันผลักดันการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2 จนสำเร็จ และสามารถนำส่งขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนของภาครัฐนำมาซึ่งนวัตกรรมที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม การมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัยระดับนี้แสดงถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นไปยืนในระดับเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศได้
รมว.อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่สำคัญของประเทศ เพราะข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกใช้ในการปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดที่ถูกต้อง ช่วยให้ทุกการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย THEOS-2 ถือเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการภัยธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำ การจัดการเกษตร การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ?รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ภารกิจการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรประสบความสำเร็จ และถือเป็นดาวเทียมสำรวจที่มีการบันทึกภาพที่รายละเอียดสูงมากดวงแรกของประเทศไทย? ดาวเทียมดวงหลักTHEOS-2 สามารถบันทึกภาพที่มีความละเอียดสูงถึง ๕๐ เซนติเมตร สมรรถนะที่สูงขึ้นนี้ทำให้ได้ข้อมูลที่ได้มีคุณภาพดีขึ้นและมีความชัดเจนมากขึ้น สามารถนำมาติดตามและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างหลากหลาย หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดินเพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป
?การนำส่งดาวเทียมครั้งนี้ถือเป็นการสานต่อภารกิจดาวเทียม THEOS-1 ที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนานกว่า ๑๕ ปี และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากดาวเทียมต่อยอดให้เกิดเป็นเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) ของประเทศ? ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ