(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
ถ้อยแถลงของ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ริยาด
๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖
โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ใต้ฝ่าพระบาท
ฯพณฯ ทั้งหลาย
๑. ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียที่ทรงให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
๒. ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ผมขอย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะกระชับหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาคทั้งสองของเราต่อไป
๓. ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเรามีมหาศาล คิดเป็นเกือบร้อยละ ๖ ของจีดีพีโลก ผมมีความเชื่อมั่นว่า กรอบความร่วมมืออาเซียน-จีซีซี ที่เราจะร่วมรับรองในวันนี้จะส่งเสริมความร่วมมือของเราต่อไป
๔. อย่างไรก็ดี เราพบกันท่ามกลางความท้าทายและความไม่มั่นคงร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านมนุษย์ ด้านอาหาร ด้านพลังงาน ด้านสุขภาพ หรือสภาพภูมิอากาศ ผมเชื่อว่า เรื่องที่อยู่ในใจของพวกเราเหนืออื่นใดในตอนนี้ คือ สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในฉนวนกาซาและพื้นที่โดยรอบ
๕. อาเซียนและจีซีซีต่างมีวิสัยทัศน์ที่มีความมุ่งหวังสูง มีความยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่อนาคต โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ จากวิสัยทัศน์ร่วมกันนี้ เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมของพวกเรา
๖. ความร่วมมือของเราควรดำเนินภายใต้ความเป็น ?หุ้นส่วนที่สร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน? ซึ่งผมขอเน้นความร่วมมือสามด้าน ดังนี้
๗. หนึ่ง เราสนับสนุนการค้าและการลงทุนไร้รอยต่อโดยการลดอุปสรรค โดยควรพิจารณาจัดตั้งเวทีภาคธุรกิจอาเซียน-จีซีซี เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนทั้งสองให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
๘. การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-จีซีซี มีความสำคัญยิ่ง เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของเราซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ๔๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราย้งควรจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของเรารื้อฟื้นการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีซีซีด้วย
๙. ในฐานะครัวโลก ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านการเกษตรและนวัตกรรมอาหารเพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหาร เรายังแสวงหาความร่วมมือกับจีซีซีในด้านวิทยาศาสตร์และมาตรฐานฮาลาล
๑๐. สอง ไทยได้ใช้นโยบายการเจริญเติบโตสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการเงินสีเขียวที่ยั่งยืน เราจะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพิ่มในปีหน้า ซึ่งเราจะยินดีหากเพื่อนสมาชิกจีซีซีสนใจจะร่วมสนับสนุน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
๑๑. ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวของของจีซีซีสามารถทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานสะอาด และระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า
๑๒. สุดท้าย เรื่องความสัมพันธ์ระดับประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น อาเซียนยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีซีซีมากขึ้น สำหรับไทย เราประสงค์ที่จะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวจีซีซีซึ่งปัจจุบันมีจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ คนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในสองปี
๑๓. เราจะพัฒนาภาคการบริการ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ชาวไทยมุสลิมจำนวนมากสามารถพูดภาษาอารบิกได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้บริการทางสุขภาพแก่คนชาติจีซีซี
๑๔. ไทยยังพร้อมที่จะแบ่งปันความเชี่ยวชาญในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เราสามารถทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การยกเว้นการตรวจลงตราและการเชื่อมโยงเที่ยวบินระหว่างทั้งสองภูมิภาค
๑๕. หุ้นส่วนอาเซียน-จีซีซีควรตั้งอยู่บนความปรารถนาร่วมของเราเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง เรายินดีต่อบทบาทที่แข็งขันของจีซีซีในการแก้ไขสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่ล่อแหลมผ่านการพูดคุย
๑๖. ไทยเสียใจต่อความรุนแรงที่ปะทุขึ้นจนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมถึงคนไทยที่เสียชีวิต ๓๐ ราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
๑๗. ผมขอร่วมกับทุกท่านในการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการทันทีเพื่อยุติความรุนแรง และแสวงหาการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ผ่านการเจรจาและเครื่องมือทางการทูต บนพื้นฐานของแนวทางสองรัฐ
๑๘. เราเรียกร้องให้ตัวประกันทุกคนสามารถกลับมาโดยปลอดภัย ในทันที และไม่มีเงื่อนไข และไม่มีการสูญเสียชีวิตเพิ่มอีก ในท้ายที่สุดแล้ว เราประสงค์ที่จะเห็นากรธำรงอยู่ของสันติภาพ
๑๙. ผลของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ต้องได้รับการต่อยอดให้ยั่งยืนและมุ่งสู่อนาคตผ่านการหารือและการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ไทยพร้อมที่จะส่งเสริมการหารือระดับผู้นำต่อไปในอนาคตเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนนี้
๒๐. สำนักเลขาธิการของทั้งสองฝ่ายควรได้รับการมอบหมายให้ติดตามผลการหารือของเราในวันนี้อย่างเป็นรูปธรรม
๒๑. ขอขอบคุณครับ
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ