สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๙ พ.ย. ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ
๑. การเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ ๓๐ ของนายกรัฐมนตรี ณ สหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคประจำปี ๒๕๖๖ ณ นครซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๗ พ.ย. ๒๕๖๖ โดยนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้จัดบรรยายสรุปให้สื่อมวลชนแล้วเมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๕๖๖
๒. การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ (๒๐ - ๒๔ พ.ย. ๒๕๖๖)
กระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจัดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๔ พ.ย. ๒๕๖๖
กิจกรรมสำคัญของการประชุมฯ ประกอบด้วย
การรับมอบนโยบาย ?การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก? จาก นรม. และรับมอบนโยบายจาก รนรม./รมว.กต.
การประชุมหารือระหว่าง ออท. และ กสญ. และผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ (กระทรวงพาณิชย์) และ
การลงทุน (BOI) เพื่อร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ
การระดมสมองระหว่าง ออท. และ กสญ. เพื่อร่วมวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล
การประชุมหารือระหว่าง ออท. และ กสญ. กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทาง การส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในมิติต่าง ๆ
การรับฟังข้อมูลและความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาควิชาการและภาคเอกชน ในประเด็น megatrends การเมือง/ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ การแข่งขันของมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงของ
สภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศ
ในช่วงดังกล่าว จะมีการจัดแถลงข่าวและจะมีโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์เอกอัครราชทูตและ
กงสุลใหญ่ โดยไทยมีสำนักงานในต่างประเทศ ๙๗ แห่งทั่วโลก แบ่งเป็น สอท. ๖๕ แห่ง สกญ. ๒๘ แห่ง คณะผู้แทนถาวรไทยประจำ UN และอาเซียน ๓ แห่ง และสำนักงานการค้าเศรษฐกิจไทย ๑ แห่ง รวมถึงคณะผู้แทนไทยประจำ WTO ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะมาเข้าร่วมในบางกำหนดการด้วย
๓. ความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยจากเมืองเล้าก์ก่าย รัฐฉาน เมียนมา (นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล เข้าร่วมด้วย)
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งรายงานว่า มีคนไทยจำนวน ๑๖๒ คนที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วจากสถานที่ทำงานในเมืองเล้าก์ก่ายและได้รับการดูแลจากทางการเมียนมา ต่อมา ทางการเมียนมาได้ช่วยเหลือคนไทยเพิ่มเติมอีก ๒ คน รวมเป็น ๑๖๔ คน
เมื่อวันที่ ๗ พ.ย. ๒๕๖๖ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง.ผบ.ตร. และอธิบดีกรมการกงสุล ได้เดินทางไปกรุงย่างกุ้งเพื่อหารือกับทางการเมียนมาเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนไทยในเมืองเล้าก์ก่าย รัฐฉาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ (๑) ขอยืนยันข้อมูลจากทางการเมียนมาว่า คนไทยจำนวนดังกล่าวอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งได้รับทราบว่า คนไทย
กลุ่มดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือและอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว (๒) สอบถามสถานการณ์ความไม่สงบในบริเวณรอบเมืองเล้าก์ก่ายและ (๓) การอพยพคนไทยออกจากเมืองเล้าก์ก่าย
ในส่วนของการอพยพคนไทย สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างประสานทางการเมียนมาในการเดินทางไปยังเมืองเล้าก์ก่ายเพื่อยืนยันสัญชาติ และออกเอกสารเดินทางที่จำเป็น รวมถึงประสานงานเรื่องเส้นทางอพยพกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อต่อไป รวมถึงได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กรุงปักกิ่ง และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง รวมถึงองค์กรเอกชนมูลนิธิแอมมานูเอลและมูลนิธิปวีณาฯ ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนงานด้วย
กรมการกงสุล กรมสารนิเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้มีการประกาศเตือนเป็นระยะให้คนไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ รวมทั้งในเมียนมา ให้ระมัดระวังการถูกหลอกให้ไปทำงานผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ขอความอนุเคราะห์สื่อมวลชนร่วมมือช่วยสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวด้วย
ช่องทางติดต่อกรมการกงสุล หมายเลข ๐๖๔ ๐๑๙ ๘๕๓๐ / ๐๖๔ ๐๑๙ ๘๙๐๗ / ๐๙๙ ๖๑๖ ๔๗๘๖ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๐๒ ๕๗๕ ๑๐๔๗ ? ๕๑ และ ๐๒ ๕๗๕ ๑๐๕๓ ในวันและเวลาราชการ
๔. ความคืบหน้าสถานการณ์ในอิสราเอล-กาซา (นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล เข้าร่วมด้วย)
กระทรวงการต่างประเทศมีการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน ( Rapid Response Center - RRC) อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล โดยมี นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไป กรุงเทลอาวีฟเพื่อสนับสนุนการดำเนินการอพยพคนไทย ซึ่งชุดแรกได้เดินทางกลับมาแล้วเมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๕๖๖ หลังจบภารกิจอพยพคนไทยช่วงแรก และจะส่งชุดที่สองไปในโอกาสแรกเพื่อสนับสนุนภารกิจดูแลคนไทยที่ยังอยู่ในอิสราเอลและอำนวยความสะดวกการเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป
รัฐบาลไทยยังคงดำเนินการเรื่องการช่วยเหลือตัวประกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ได้ประสานงานผ่านหลากหลายช่องทาง อาทิ สถานเอกอัครราชทูตที่มีผู้แทนปาเลสไตน์ในพื้นที่ และประเทศในตะวันออกกลาง หน่วยงานสหประชาชาติ และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ รวมทั้ง รนรม./รมว.กต. ได้เดินทางไปกาตาร์และอียิปต์มาระหว่างวันที่ ๓๐ ต.ค. - ๑ พ.ย. ๒๕๖๖ เป็นต้น
ผลกระทบต่อคนไทย
เสียชีวิต - ๓๔ ราย
บาดเจ็บ - อยู่ระหว่างรักษาพยาบาล ๔ ราย
ถูกจับเป็นตัวประกัน - ๒๕ ราย
ขณะนี้ ทางการไทยได้จัดให้แรงงานไทยกลับบ้านแล้วรวมทั้งสิ้น ๗,๔๗๐ ราย โดย ๓๕ เที่ยวบิน และมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่เดินทางกลับโดยซื้อบัตรโดยสารเอง ทำให้จำนวนผู้เดินทางกลับประเทศไทยแล้วมีมากกว่า ๘,๕๐๐ ราย ซึ่งเป็นไปตามจำนวนผู้แสดงความประสงค์ไว้ และนับได้ว่ารัฐบาลได้บรรลุเป้าหมายภารกิจระยะแรกแล้ว ภารกิจต่อไป คือการชดเชย ช่วยเหลือในประเด็นต่าง ๆ และการติดตามเรื่องตัวประกันและบุคคลสูญหาย (หากมี)
ทั้งนี้ ยังมีคนไทยที่ตัดสินใจพำนักต่อในอิสราเอล ซึ่งคาดว่า อยู่ในเขตปลอดภัยประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟได้ส่งร่างคนไทยกลับมาแล้ว ๔ เที่ยวบิน รวม ๓๔ ร่าง (โดย ๘ ร่างถึงประเทศไทยในช่วงบ่ายโมงของวันนี้)
แม้ศูนย์พักพิงฯ จะปิดไปแล้ว แต่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังคงดำเนินการช่วยเหลือคนไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ปิดศูนย์พักพิงฯ มีคนไทยในอิสราเอลที่ติดต่อมาอีกจำนวน ๓๒ คน และมีผู้ขอรับคำแนะนำทางเฟซบุ๊กอีก ๘๖ คน
รับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/ocvZjyO0Ep/
- * * * *
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ