เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เสาความร่วมมือที่ ๒-๔ ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยมีนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีจากประเทศหุ้นส่วน IPEF เข้าร่วมการประชุมรวม ๑๔ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ฟีจี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม
ที่ประชุมได้รับทราบถึงพัฒนาการการเจรจาร่างความตกลงเสาความร่วมมือที่ ๓ ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Economy) เสาความร่วมมือที่ ๔ ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy) ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งได้หารือถึงแผนการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญในระยะต่อไป โดยเฉพาะแผนการจัดการประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum และแนวคิดการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนรองรับการพัฒนา Clean Economy โดยความร่วมมือจากภาคเอกชน
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมลงนามความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to Supply Chain Resilience) ซึ่งจะเป็นความตกลงระดับภูมิภาคด้านห่วงโซ่อุปทานฉบับแรกของโลก ที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุน อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าดำเนินความร่วมมือเกี่ยวกับสาขาหลักและสินค้าสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อเตรียมการรับมือกับปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วน IPEF ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ กระตุ้นการลงทุนรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนกระชับความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริตและเพิ่มความโปร่งใสทางภาษี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขยายการค้าและการลงทุนคุณภาพสูงต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ