เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่กรุงเทพฯ ในหัวข้อ ?การทูตเชิงรุกในโลกแบ่งขั้ว? โดยมีเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยจาก ๙๗ สำนักงานทั่วโลก พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบนโยบายและแนวทางการกำหนดนโยบายต่างประเทศสู่ยุคใหม่เพื่อเป็นเข็มทิศในการทำงาน ได้แก่ นโยบายต่างประเทศต้องเกิดขึ้นที่บ้าน มีลักษณะเชิงรุก มองไปข้างหน้า และขยายวงกว้างและเข้าถึง โดยโจทย์สำคัญคือ การวางตำแหน่งของประเทศไทยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และทิศทางของโลกในปัจจุบัน และขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศในทุกมิติเพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติและสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชน โดยมีระดับการดำเนินการจากวงแคบสู่วงกว้างใน ๔ ระดับ ได้แก่ (๑) ประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งส่งเสริม ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จทั้งด้านกฎระเบียบ/มาตรฐาน เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดน และลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว (๒) ภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนการบูรณาการในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน ขณะเดียวกันควรมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ให้ก้าวหน้า (๓) ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ โดยรักษาสมดุลในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งมีจุดยืนของตนเองบนพื้นฐานของหลักการที่ชัดเจนและผลประโยชน์ของประเทศ และมองไปยังประเทศที่มีอำนาจในตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และกลุ่มประเทศอำนาจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์กับไทย และ (๔) การทูตพหุภาคี โดยยึดมั่นในหลักการสากลและชูจุดแข็งของไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก อาทิ การพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณสุข และร่วมกำหนดทิศทางของประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยการทูตพหุภาคีไม่จำกัดเฉพาะระดับสหประชาชาติ แต่ยังเชื่อมต่อไปยังกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เช่น ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และควรมองไปข้างหน้าถึงโอกาสในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับไทยด้วย อาทิ OECD และ BRICS
อนึ่ง การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ (๑) รับทราบทิศทางและแนวนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลซึ่งเพิ่งเข้ารับหน้าที่ (๒) แลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกำหนดแนวทางในการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ และ (๓) รับทราบนโยบายที่สำคัญ อาทิ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ โครงการแลนด์บริจด์ และการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยว และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกัน
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ