สรุปการแถลงข่าวโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖

ข่าวต่างประเทศ Monday November 27, 2023 14:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

การแถลงข่าวโดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในประเด็นการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖

ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ

วันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๔๐ - ๑๒.๐๐ น.

การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในรอบ ๗ ปี ซึ่งตรงกับช่วงที่รัฐบาลเข้ารับหน้าที่ได้เพียง ๒ เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ได้รับทราบนโยบายของรัฐบาล ซึ่งให้ความสำคัญกับดำเนินการต่างประเทศในยุคใหม่ที่จับต้องได้ และตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศชาติและสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชนผ่านการดำเนิน ?การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก?

การประชุมฯ ครั้งนี้ มีเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ อุปทูต และรักษาการกงสุลใหญ่ เข้าร่วม ๙๗ คน จากสถานเอกอัครราชทูต ๖๕ แห่ง สถานกงสุลใหญ่ ๒๘ แห่ง คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติและอาเซียน ๓ แห่ง รวมถึงสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ๑ แห่ง นอกจากนี้ ยังได้เชิญเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย

ในช่วงเย็นของวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ ศาลาดุสิดาลัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ รวมถึงเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ได้ศึกษาดูงานที่ศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา ๙๐๔ (บางเขน) ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายต่อเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ และผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์และฝ่ายส่งเสริมการลงทุนในฐานะทีมประเทศไทยด้านเศรษฐกิจ โดยย้ำความสำคัญของ ?การทูตเชิงรุก? เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์ของประชาคมระหว่างประเทศ มีสถานะ ศักดิ์ศรี และความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนทางการค้า นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้ร่วมกันระดมสมองเพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการในการส่งเสริมการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในบริบทของความท้าทายของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ และการแข่งขันทางเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังผลการระดมสมองที่กระทรวงฯ โดยหน่วยงานทั้งสาม (กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ได้ร่วมกันกำหนดประเทศเป้าหมายด้านการค้าและการลงทุน ๑๐ ประเทศ โดยพิจารณาจากศักยภาพของประเทศและตลาดต่าง ๆ Mega Trends และยุทธศาสตร์การลงทุนของไทย โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มประเทศเป้าหมาย ได้แก่

(๑) ตลาดหลักที่ต้องรักษาไว้ ได้แก่ (i) สหรัฐฯ (ii) จีน (iii) ญี่ปุ่น (iv) เยอรมนี และ (v) ฝรั่งเศส

(๒) ตลาดศักยภาพ ได้แก่ (i) อินเดีย (ii) UAE และ (iii) เกาหลีใต้ และ

(๓) ตลาดศักยภาพใหม่ ได้แก่ (i) ซาอุดีอาระเบีย และ (ii) แอฟริกาใต้

ขณะเดียวกัน ไทยก็ยังจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความสำคัญสำหรับไทย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ACMECS อาเซียน BIMSTEC GCC และ EU อีกทั้งจำเป็นต้องเข้าร่วมกรอบความร่วมมืออื่น ๆ เช่น OECD เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย

การประชุมทูตและกงสุลใหญ่ในครั้งนี้ ยังจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ได้แก่

(๑) กิจกรรมภายใต้ concept ?ทีมประเทศไทย? ได้แก่ การประชุมระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน

(๒) กิจกรรมภายใต้ concept ?ทีมประเทศไทยพลัส? ซึ่งประกอบด้วยทีมประเทศไทย บวกกับภาคเอกชน ได้แก่ การรับฟังความเห็นและความคาดหวังต่อบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศจากผู้บริหารภาคเอกชนในภาคการค้า อุตสาหกรรม การเงิน อสังหาริมทรัพย์ การบริการ พลังงาน และ Start-up

เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ยังได้มีโอกาสรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานราชการและภาควิชาการในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของโลกและโครงการสำคัญของรัฐบาล ผ่านการสัมมนา การบรรยายและปาฐกถา อาทิ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล Soft Power เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการ Landbridge ความมั่นคงทางพลังงาน และการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต

การประชุมในครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ โดยเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ และผู้บริหารกระทรวงฯ ได้หารือเกี่ยวกับ ?โอกาส? ของไทยในการดำเนินนโยบายต่างประเทศยุคใหม่ ซึ่งจะมีความเป็นเชิงรุก (proactive) และมองไปข้างหน้า (forward-looking) โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงของภูมิภาค และมีบทบาทร่วมในประเด็นสำคัญ ของโลกและภูมิภาค เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนและการบรรลุเป้าหมาย SDGs การสาธารณสุข เศรษฐกิจสีเขียว ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ ?การทูตเพื่อประชาชน? ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศและจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในสถานการณ์โลกที่ผันผวน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยในกรณีฉุกเฉิน และการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์หรือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การสื่อสารกับประชาชนเพื่อความโปร่งใสและให้การต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลและผมให้ความสำคัญ และยินดีที่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่หลายท่านได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในหัวข้อที่เป็นที่สนใจ ทั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในในอิสราเอลและเล่าก์ก่าย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ ความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค การรุกตลาดใหม่และการส่งเสริม Soft Power ซึ่งกระทรวงฯ จะสื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุดในเรื่องสำคัญผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

หลังจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ จะร่วมกันขับเคลื่อนผลการประชุมฯ และนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ