สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันศุกร์ที่ ๑๒ ม.ค. ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และ Facebook live
กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำวีดิทัศน์สรุปผลงานกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยสามารถรับชมแบบเต็มคลิปได้ที่ https://youtu.be/_Y6vCnwdIRs
๑. การช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาตอนเหนือ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอพยพคนไทยและบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนแต่มีถิ่นพำนักในไทยออกจากเมืองเล้าก์ก่าย จำนวนรวม ๕๔๙ คน ก่อนวันที่ ๔ ม.ค. ๒๕๖๗ ที่กองกำลัง Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) และพันธมิตรจะเข้าควบคุมเมืองเล้าก์ก่าย ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง แจ้งว่า ขณะนี้ไม่มีคนไทยหลงเหลืออยู่ในเมืองเล้าก์ก่ายแล้ว
โดยที่ยังมีคนไทยอยู่ในบริเวณเมืองใกล้เคียง เช่น ล่าเซี่ยว ตองจี เมืองป๊อก และเมืองลา สถานเอกอัครราชทูตฯ และกรมการกงสุลได้ร่วมมือกับมูลนิธิ Focus และมูลนิธิ Immanuel ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไทยในกรณีต้องมีการอพยพออกจากพื้นที่
นอกจากนี้ กรมการกงสุลฯ มีแผนจะจัดทำโครงการร่วมกับ จ.เชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ
มูลนิธิ Focus สร้างความตระหนักรู้และเฝ้าระวังให้คนในพื้นที่ เนื่องจากทราบว่า มีคนไทยเดินทางจาก จ.เชียงรายไปยังท่าขี้เหล็กในลักษณะรายวันเพื่อทำงานให้แก๊ง scammer /call center
ปัจจุบัน กลุ่ม scammer ดังกล่าวเริ่มย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ทำให้มีคนไทยถูกหลอกไปทำงานในสถานที่ใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงขอเตือนพี่น้องคนไทยที่ได้รับข้อเสนอหรือเห็นโฆษณาจากสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการทำงานที่มีรายได้และเงื่อนไขดีเกินจริง โปรดตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยอาจสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล หรือสถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้น ๆ
๒. การช่วยเหลือคนไทยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๖๗ มีแผ่นดินไหวขนาด ๗.๖ แมกนิจูด ศูนย์กลางอยู่ที่ จ.อิชิคาวะ ตอนกลางของญี่ปุ่น ทำให้เกิดความเสียหายและคลื่นสึนามิในจังหวัดใกล้เคียง และยังคงมีแผ่นดินไหวขนาดเล็ก (aftershock) ต่อเนื่อง สถิติ ณ วันที่ ๑๑ ม.ค. ๒๕๖๗ มีผู้เสียชีวิต ๒๑๓ ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ๕๖๗ ราย และสูญหาย ๓๗ ราย ทั้งนี้ ไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือคนไทยที่อาจได้รับผลกระทบ ๓ กลุ่ม ได้แก่ คนไทยที่มีคู่สมรสคนญี่ปุ่น ผู้ฝึกงานคนไทยใน จ.อิชิกาวะ และกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาใน จ. อิชิกาวะ ทั้งนี้ จากการประสานงานกับเครือข่ายนักศึกษาไทยทราบว่าไม่มีนักศึกษาได้รับผลกระทบ
สถานเอกอัครราชทูตฯ ประสานงานกับองค์กร YOU-I ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลคนไทยในพื้นที่ประสบภัย เพื่อจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์เบื้องต้นแล้ว และจะจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือดูแลคนไทยกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนไทยในญี่ปุ่นร่วมบริจาคสิ่งของผ่านองค์กร YOU-I เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้
กระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวโปรดเฝ้าระวังสถานการณ์โดยติดตามข่าวสารของทางการญี่ปุ่น หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างต่อเนื่อง หมายเลขโทรศัพท์ HOTLINE +๘๑๙๐ ๔๔๓๕ ๗๘๑๒
๓. การรับมอบโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ กลับคืนสู่ประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๔ ม.ค. ๒๕๖๗ กรมศิลปากรได้จัดการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ โดยมี รมว.กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานและมีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย เพื่อหารือกรณีที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Met) ในสหรัฐฯ ประสงค์จะมอบคืนโบราณวัตถุ ๒ ชิ้น คือประติมากรรมรูปพระศิวะ (Golden Boy) และประติมากรรมสตรีชันเข่าพนมมือ ซึ่งเชื่อว่าถูกค้นพบที่จ.บุรีรัมย์ กลับคืนสู่ประเทศไทย และอยู่ระหว่างการเตรียมการส่งคืน หลังจากที่ได้รับแจ้งว่า โบราณวัตถุทั้งสองรายการถูกลักลอบส่งออกมาจากประเทศต้นทางอย่างผิดกฎหมาย ขณะนี้ โบราณวัตถุทั้งสองรายการจัดแสดงที่ Florence and Herbert Irving Galleries: The Arts of South and Southeast Asia ชั้น ๒ ของพิพิธภัณฑ์ฯ
การหารือระหว่างกรมศิลปากรกับพิพิธภัณฑ์ฯ ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมประสานงานและหารือในรายละเอียดด้วย โดยจากนี้จะหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการต่อไป รวมถึงการเยือนพิพิธภัณฑ์ฯ ของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีจากกรมศิลปากรเพื่อร่วมตรวจสอบโบราณวัตถุ แผนการส่งมอบและการจัดพิธีส่งมอบ การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระยะยาวระหว่างไทยกับพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นต้น
กระทรวงฯ อยู่ระหว่างประสานงานกรมศิลปากร สถานกงสุลใหญ่ฯ และพิพิธภัณฑ์ฯ ในรายละเอียดของกระบวนการส่งคืน โดยคาดว่าจะส่งกลับไทยได้ภายในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๗ โดยกรมศิลปากรจะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติระยะหนึ่ง และอาจย้ายไปจัดแสดงที่แหล่งค้นพบที่ จ. บุรีรัมย์ต่อไป
๔. พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๖
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๔ ม.ค. ๒๕๖๗ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ และคู่สมรสในวันเดียวกัน
พิธีพระราชทานรางวัลครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓๓ โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ประจำปี ๒๕๖๖ ได้แก่
สาขาการแพทย์ ศ.นพ. นาโปเลโอเน เฟอร์รารา จากอิตาลี/สหรัฐฯ สำหรับการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโปรตีน VEGF ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาบีวาซิซูแมบในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่นและโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ
สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ. แบร์รี่ เอช. รูแมค จากสหรัฐฯ สำหรับการคิดค้นภาพกราฟประดิษฐ์ Rumack?Matthew Nomogram ซึ่งได้ช่วยให้แพทย์ทั่วโลกวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจาการทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจัดตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในฐานะองค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย มอบแก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ ๑ รางวัล และการสาธารณสุข ๑ รางวัล ทุกปี ที่ผ่านมา รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลได้รับการยอมรับในระดับสากลมาตลอดกว่า ๓๐ ปี มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ๙๔ คน ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ๖ คน สะท้อนถึงมาตรฐานของรางวัลที่คัดเลือกผู้ที่มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างแท้จริง
ในปี ๒๕๖๗ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ จะเริ่มเปิดรับการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลฯ ในเดือน ก.พ. ๒๕๖๗
๕. ภารกิจต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๗
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญ ๒ รายการ ได้แก่
การประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ ม.ค. ๒๕๖๗ ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ?Rebuilding Trust? เน้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่ออนาคตและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยจะเป็นการเข้าร่วมระดับผู้นำรัฐบาลไทยครั้งแรกในรอบ ๑๒ ปี และเป็นการเยือนภูมิภาคยุโรปครั้งแรกของทั้งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ ม.ค. ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกที่จัดขึ้นโดย สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ภายใต้หัวข้อ ?Enhancing Connectivity and Resilience?
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษ (special envoy) ของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้ง ๑๙ (Non-Aligned Movement: NAM) ที่กรุงกัมปาลา สาธารณรัฐยูกันดา ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ ม.ค. ๒๕๖๗ภายใต้หัวข้อ ?Deepening Cooperation for Shared Global Affluence? ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยได้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก NAM ๑๒๐ ประเทศ รวมถึงเป็นโอกาสรณรงค์หาเสียงสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕ ? ๒๐๒๗ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. ๒๕๖๗ ด้วย
รับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/pwS9CgfuFd/?mibextid=qC1gEa
- * * * *
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ