แถลงข่าวสำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หลังการพบหารือกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗

ข่าวต่างประเทศ Monday January 29, 2024 14:31 —กระทรวงการต่างประเทศ

แถลงข่าว

สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

หลังการพบหารือกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗

ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นายฮูแบร์ทุส ไฮล์ (Hubertus Heil) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกิจการสังคม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ดร. แอ็นสท์ วอล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย

คณะผู้แทนไทยและเยอรมนี

พี่น้องสื่อมวลชน

แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและภริยา ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยการเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีครั้งแรกในรอบ ๒๒ ปี ครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๔๕

ประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีความสัมพันธ์ระหว่างกันยาวนานถึง ๑๖๒ ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในสหภาพยุโรปและไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๓ ของเยอรมนีในอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงเป็นพันธมิตรที่เกื้อกูลกันมาตลอด วันนี้ ไทยและเยอรมนีต่างเห็นพ้องว่าต้องกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)

ผมได้หารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือไทย-เยอรมนีในด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ โดยเยอรมนีพร้อมให้การสนับสนุนไทยด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ ๕๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๔๐ รวมทั้งการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนีในไทยเพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ เยอรมนีจะส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทยอย่างต่อเนื่องและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้นำคณะภาคเอกชนเยอรมนีร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งผมได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ ๆ สำหรับภาคเอกชนของเยอรมนีหลังจากที่ไทยกับสหภาพยุโรปสามารถบรรลุการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีได้สำเร็จ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี ๒๕๖๘ นอกจากนี้ ผมยังได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งโครงการ Landbridge และโครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย การส่งเสริม Ease of Doing Business รวมทั้งการสร้างทรัพยากรมนุษย์โดยการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาซึ่งกันและกัน ในโอกาสนี้ ภาคเอกชนเยอรมนีได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาประกอบการในไทยในด้านงานสินค้านานาชาติ และการรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ นอกจากนี้ ภาคเอกชนกลุ่มนี้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของภาคเอกชนเยอรมนีในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลจะนำไปพิจารณาเพื่อดึงดูดการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป

อีกประเด็นสำคัญที่ผมได้หารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คือ การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและเยอรมันเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวเยอรมัน โดยปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาไทยประมาณ ๗ แสนคน ทั้งนี้ ชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ๓๐ วันอยู่แล้ว ผมจึงได้ขอให้ฝ่ายเยอรมนีสนับสนุนไทยให้สามารถบรรลุการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อขอยกเว้นตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทยด้วย

ในช่วงเย็นวันนี้ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา มีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

สำหรับพรุ่งนี้ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในครั้งนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยกับเยอรมนีมีความร่วมมือในทุกมิติที่แน่นแฟ้นยิ่งมากขึ้น โดยในห้วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ผมมีกำหนดที่จะเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป

  • * * * * * * *

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ