รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก ครั้งที่ ๓ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 6, 2024 14:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum ? IPMF) ครั้งที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากสหภาพยุโรป (อียู) และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เข้าร่วมจาก ๖๙ ประเทศ และ ๕ องค์การระหว่างประเทศ

ในห้วงการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ ซึ่งมีนาย Josep Borrell Fontelles ผู้แทนระดับสูงของอียูด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นประธาน และได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมโต๊ะกลมในหัวข้อ ?ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคง (Geopolitical and Security Challenges)?

รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวเน้นความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีบทบาทในการกำหนดระเบียบโลกใหม่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงเช่นกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นในระบบหลายขั้วอำนาจและบทบาทของอาเซียนในการสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของอียู ซึ่งสามารถมีบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับไทยและอาเซียน นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อให้สันติภาพ เสถียรภาพ และความเป็นเอกภาพกลับคืนสู่เมียนมา

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้พบหารือทวิภาคีกับนาง Hanke Bruins Slot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ และนาย P?ter Szijj?rt? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ และไทย-ฮังการี รวมทั้งขอรับการสนับสนุนจากทั้งสองประเทศซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอียูสำหรับการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป การขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ และการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของไทย

ในห้วงการประชุมเดียวกันนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้พบหารือกับนาย Enrique Mora รองเลขาธิการกิจการด้านการเมือง/ผู้อำนวยการด้านการเมือง กระทรวงการต่างประเทศอียู เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา และแนวทางในการดำเนินการร่วมกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเพื่อส่งเสริมให้เมียนมามีความสงบสุข มีเสถียรภาพ และมีเอกภาพ

การประชุม IPMF เป็นเวทีการหารือระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอียู ๒๗ ประเทศ และรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ตลอดจนผู้แทนองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคและหุ้นส่วนอื่น ๆ ในอินโด-แปซิฟิก อาทิ สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๖๕ ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส และครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๖๖ ที่กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน โดยไทยได้ส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมทุกครั้ง

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ