สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันศุกร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว
และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. การดำเนินการของไทยต่อความคืบหน้าสถานการณ์ในเมียนมา
ภายหลังจากเหตุการณ์ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาเข้าควบคุมเมืองเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นช่องทางการค้าชายแดนและประชาชนไทย-เมียนมาผ่านเข้าออกที่สำคัญ ฝ่ายไทยได้เตรียมความพร้อมในหลายมิติและเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมากับฝ่ายต่อต้านที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยตามแนวชายแดน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีผู้หนีภัยการสู้รบข้ามมายังประเทศไทย
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์ในเมียนมาโดยตรง ซึ่งจะเริ่มประชุมเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านมนุษยธรรมเป็นอันดับต้น และพร้อมจะพูดคุยกับทุกฝ่าย หากทุกฝ่ายพร้อมให้ไทยเข้าไปพูดคุยด้วย และไทยมีความยินดี หากแต่ละฝ่ายเห็นประโยชน์ที่จะให้มีไทยเข้าไปร่วมหารือด้วย
ในฐานะเพื่อนบ้าน ไทยสนับสนุนการพูดคุยและการปรองดองเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง และเอกภาพในเมียนมา โดยต้องเป็นผลจากการพูดคุยและการหาแนวทางร่วมระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ภายในเมียนมาเอง
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ขณะนี้ ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะเพิ่มและขยายการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยจะเริ่มพูดคุยกับองค์การระหว่างประเทศตามแนวชายแดนและองค์กรประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนจะเชิญมาแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า
๒. การเตรียมการของไทยต่อสถานการณ์อิสราเอล-อิหร่าน
ตามที่เกิดเหตุความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน จากที่อิสราเอลโจมตีอาคารสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัต ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๗ และอิหร่านยิงขีปนาวุธและโดรนประมาณ ๓๐๐ ลูกตอบโต้ไปยังอิสราเอล เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๗ ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกประกาศแจ้งเตือนคนไทยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ทั้งที่กรุงเทลอาวีฟและกรุงเตหะราน ได้ติดต่อประสานกับชุมชนไทยในทั้งสองประเทศ เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพัฒนาการของสถานการณ์เป็นระยะ
เช้านี้ (๑๙ เมษายน) สถานการณ์มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงฯ ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในกรณีฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๗ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ได้ร่วมหารือเพื่อหาแนวทางและทางเลือกต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่ รวมถึงในกรณีที่ต้องมีการอพยพคนไทยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรืออพยพกลับประเทศไทยด้วย
ไทยขอย้ำให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ขณะที่คนไทยในพื้นที่ที่ห่วงกังวลในความปลอดภัย สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ทันที และขอให้ชุมชนไทยในพื้นที่ติดตามการแจ้งข่าวสารของทางการท้องถิ่นและสถานเอกอัครราชทูตไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตทั้งสองแห่งพร้อมจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน
๓. การเยือนกรุงปารีสของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงการสมัครสมาชิก OECD ของไทย (๑๕-๑๗ เมษายน)
เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เดินทางเยือนกรุงปารีส ตามคำเชิญของนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เพื่อยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของไทย โดยได้กล่าวถ้อยแถลงและแลกเปลี่ยนความเห็นกับที่ประชุมคณะมนตรี OECD ในประเด็นการสมัครสมาชิก OECD ของไทย
รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำความพร้อมและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ในโอกาสแรก พร้อมย้ำค่านิยมและเป้าหมายร่วมของประเทศไทยกับประเทศสมาชิก OECD โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจตลาดแบบเปิดและเสรี ความยั่งยืน ความครอบคลุม และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว อีกทั้งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ OECD ที่มีมายาวนานกว่า ๔๒ ปี พร้อมทั้งย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นประเทศพัฒนาแล้วของไทยภายในปี ๒๕๘๐ ซึ่งประเทศสมาชิกมีท่าทีสนับสนุน
OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศชั้นนำที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การต่อต้านคอร์รัปชัน ธรรมาภิบาล การศึกษา นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม
ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ไทยและ OECD จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อยกระดับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ความยั่งยืน และธรรมาภิบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการค้าและการลงทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต
การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า หากไทยเข้าเป็นสมาชิกจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยโตขึ้นร้อยละ ๑.๖ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า ๒๗๐,๐๐๐ ล้านบาท และสนับสนุนให้ไทยสามารถพัฒนาจากประเทศที่ติดกับรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้
๔. การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ (๑๖-๑๘ เมษายน)
เมื่อวันที่ ๑๖ ? ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗ นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ พร้อมคณะ ซึ่งรวมถึงคณะนักธุรกิจนิวซีแลนด์ ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในรอบ ๑๑ ปี
กำหนดการที่สำคัญ ได้แก่ การเยือนทำเนียบรัฐบาลในวันที่ ๑๗ เมษายน โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-นิวซีแลนด์ และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันในหลากหลายด้าน ซึ่งรวมถึงกลาโหมและความมั่นคง เศรษฐกิจ พลังงานสะอาด นวัตกรรม การศึกษาและวัฒนธรรม และความร่วมมือในระดับประชาชน ตลอดจนสถานการณ์ในภูมิภาค
ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วม ซึ่งระบุถึงการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายในปี ๒๕๖๙ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๗๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-นิวซีแลนด์
นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลง ๒ ฉบับ คือ (๑) ความตกลงด้านการศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับมหาวิทยาลัยแมสซีย์ และ (๒) ความตกลงด้านการจัดหา ซ่อมแซม และการบำรุงรักษา ระหว่าง Thai Aviation Industries Co., Ltd. กับ NZSkydive Limited
๕. การร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ ๓๐ ปี การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑ ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (๒๑ เมษายน)
ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๗ รองนายกรัฐมนตรีฯ จะเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการครบรอบ ๓๐ ปี การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑ ?หนองคาย-เวียงจันทน์? ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงตอนล่างขนาดใหญ่แห่งแรกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทย ลาว กับออสเตรเลีย เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทน์
สะพานแห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๗ และก่อประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน รวมถึงมีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงเศรษฐกิจและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับลาว อีกทั้งยังเป็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับจุดผ่านแดนไทย-ลาวอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ ๓๕ ของการค้าชายแดนไทย-ลาวทั้งหมด
ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะนำคณะทูตประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และประเทศคู่เจรจา ประจำประเทศไทย เดินทางไปศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม และศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี และจะเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ ๓๐ ปี การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๑ ข้างต้นด้วย
๖. การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ (๒๔-๒๙ เมษายน)
ในวันที่ ๒๔ - ๒๙ เมษายน ๒๕๖๗ เชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี
การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่จะช่วยขยายการค้าและเพิ่มโอกาสในการส่งออก รวมทั้งกระชับความร่วมมือในด้านเพื่อการพัฒนา ความเชื่อมโยง รวมถึงผ่านกรอบความร่วมมือเช่น BIMSTEC การส่งเสริมการท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ระดับประชาชน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ และนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศและคณะ ณ ทำเนียบรัฐบาล
ระหว่างห้วงการเยือน นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมีกำหนดการสำคัญในการเข้าเฝ้าฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และจะเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) สมัยที่ ๘๐ ด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ