เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ไทยได้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) โดยตามข้อ ๓๙ ของ ICPPED อนุสัญญาฯ จะมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยในวันที่ ๓๐ หลังจากวันมอบสัตยาบันสาร (วันที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๖๗)
ไทยมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะดำเนินการเพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ โดย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๖๕ จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศไทยในการดำเนินการเพื่อต่อต้านและยุติการบังคับให้หายสาบสูญต่อไป
อนึ่ง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญเป็นตราสารระหว่างประเทศหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับที่ ๘ ที่ไทยเข้าเป็นภาคี (จากทั้งหมด ๙ ฉบับ) โดยก่อนหน้านี้ ไทยเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ๗ ฉบับ ได้แก่ (๑) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) (๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) (๓) อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) (๔) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) (๕) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) (๖) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และ (๗) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD)
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ