สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น.
ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๑.๑ การเยือนลาวอย่างเป็นทางการ
ในวันนี้ (วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือน สปป. ลาวอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐมนตรีฯ
การเยือนครั้งนี้มีกำหนดการสำคัญ ได้แก่ การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เพื่อติดตามผลการเยือน สปป. ลาว อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าและการขนส่งข้ามแดน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน รวมทั้งจะแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ มีโอกาสได้พบปะกับกลุ่มนักธุรกิจไทยใน สปป. ลาว เพื่อรับฟังการดำเนินธุรกิจและความท้าทายต่าง ๆ ด้วย
๑.๒ การเข้าร่วมการประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่สิงคโปร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และการประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ระหว่างวันที่ ๕ - ๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่สิงคโปร์ ตามคำเชิญของนาย Gan Kim Yong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์
การประชุมรัฐมนตรี IPEF มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้เสาความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม รวมทั้งหารือเกี่ยวกับพัฒนาการโครงการความร่วมมืออื่น ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมความโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริต เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนมาตรฐานสูง
การประชุม Clean Economy Investor Forum มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการระดมทุนในการสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (climate tech) ซึ่งรัฐมนตรีฯ จะเข้าร่วมการเสวนากับรัฐมนตรีประเทศหุ้นส่วน IPEF และภาคเอกชน เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ของไทยต่อการส่งเสริมการพัฒนา climate tech และการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในสาขาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ จะมีกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้พบกับผู้จัดทำข้อเสนอโครงการด้าน sustainable infrastructure และ climate tech จากประเทศหุ้นส่วน IPEF โดยในส่วนของไทย จะมีคณะผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้แทนบริษัทด้าน climate tech และสตาร์ทอัพเข้าร่วมด้วย
การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ของรัฐมนตรีฯ จะเป็นโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในด้านเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตในสาขาเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน IPEF ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ ประกอบด้วยประเทศหุ้นส่วน IPEF ๑๔ ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ฟีจี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม เพื่อการส่งเสริมโอกาสทางการค้าการลงทุนและนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
๑.๓ การประชุม ASEAN-GCC ที่กรุงริยาด
เมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งให้ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ เป็นผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) เพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEAN-GCC ที่กรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย โดยผู้แทนพิเศษฯ ได้เข้าร่วมการอภิปรายในช่วงการหารือระดับรัฐมนตรีและหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนซาอุดีฯ
ในการประชุมดังกล่าว ผู้แทนพิเศษฯ ได้ย้ำความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของไทย-ซาอุดีฯ และอาเซียน-GCC ที่เข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน
๒. มาตรการและแนวทางการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย
ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยกระดับความเชื่อมโยงระดับประชาชน และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของผู้คนที่มีความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงฯ โดยกรมการกงสุล เสนอแนวทางการปรับปรุงมาตรการตรวจลงตราของประเทศไทย และต่อมา ได้เห็นชอบในหลักการถึงแนวทางการปรับปรุงมาตรการตรวจลงตรา
เมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๖๗ กรมการกงสุลได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๑๕ หน่วยงาน และเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการและแนวทางอำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ๓ ระยะ ตามที่เสนอ
มาตรการระยะสั้น ๕ มาตรการ ได้แก่
กำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ได้รับสิทธิเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเว้นการตรวจลงตรา เพื่อการท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ และทำงานระยะสั้น จำนวน ๙๓ ประเทศ/ดินแดน เป็นเวลา ๖๐ วัน (ผ.๖๐)
เพิ่มรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ได้สิทธิ Visa On Arrival (VOA) จาก ๑๙ เป็น ๓๑ ประเทศ/ดินแดน
การตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) ให้พำนักเพื่อการท่องเที่ยวระยะยาว ทำงานทางไกล เรียนวัฒนธรรม ได้ครั้งละไม่เกิน ๑๘๐ วัน ภายใน ๕ ปี แบบ multiple-entry
อำนวยความสะดวกนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษา (Non-ED Plus)
แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตรา เพื่อเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการตรวจลงตราของไทย
ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาและระเบียบภายในที่เกี่ยวข้อง และคาดว่ามาตรการระยะสั้นจะมีผลใช้บังคับในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๗
มาตรการระยะกลาง ๓ มาตรการ ได้แก่
จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) เพื่อลดความซ้ำซ้อนและความสับสน
ปรับลดวงเงินประกันสุขภาพและเพิ่มประเทศการตรวจลงตราประเภท Non-Immigrant ระยะยาว
เปิดใช้ระบบ e-Visa ครอบคลุมทุกสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม ๒๕๖๗
มาตรการระยะยาว ๑ มาตรการ ได้แก่ การพัฒนาและเปิดใช้ระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น โดยเริ่มใช้ควบคู่ไปกับระบบ e-Visa
ช่วงถาม-ตอบ: กรณีการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทย
กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวของประเทศกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต และกลุ่ม BRICS มีบทบาทเป็นกระบอกเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศและมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในเวทีระหว่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกจึงสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยและเป็นโอกาสทำให้บทบาทของไทยในเวทีโลกมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยเน้นถึงการกระชับความร่วมมือกับประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ
ในมิติภูมิรัฐศาสตร์ การเข้าเป็นสมาชิก BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่ม
ทำให้ไทยสามารถใช้ศักยภาพในฐานะประเทศที่เป็นมิตรกับทุกกลุ่ม ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วม และไทยอาจมีบทบาทเป็นช่องทางประสานงานระหว่างประเทศอื่น ๆ กับประเทศสมาชิก BRICS
ทำให้กลุ่ม BRICS มีความเข้มแข็งขึ้นและมีความครอบคลุมในเชิงภูมิศาสตร์ (geographical representation) และมุมมองทางยุทธศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะจากไทยที่เป็นจุดเชื่อมทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศตะวันตก
ทำให้ไทยร่วมกำหนดท่าทีเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของ BRICS ให้สอดคล้องกับมุมมองของไทยมากขึ้น กล่าวคือ เช่นเดียวกับกลุ่ม G77 การแสดงเจตจำนงของไทยแสดงถึงความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการรวมกลุ่มประเทศ global South ที่เข้มแข็งอีกกลุ่มหนึ่ง
การยกระดับความร่วมมือกับ BRICS รวมถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทย จึงเป็นความต่อเนื่องของนโยบายและการใช้โอกาสที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองกับทุกกลุ่มประเทศ บนหลักการของการดำเนินการทูตที่สมดุลและยืดหยุ่น
กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวของกลุ่มของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตสูง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๙ ปัจจุบัน มีสมาชิก ๑๐ ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน (๔ ประเทศแรก) แอฟริกาใต้ (เข้าเมื่อปี ๒๕๕๓) เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เข้าเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๗) ทำให้กลุ่ม BRICS มีประชากรรวมกันทั้งหมดประมาณร้อยละ ๓๙ ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมกันประมาณร้อยละ ๒๘.๔ ของโลก
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ