งานเสวนาการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต และอนาคตของพหุภาคีนิยม: มุมมองจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 4, 2024 13:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ กระทรวงการต่างประเทศและศูนย์ศึกษาการต่างประเทศได้ร่วมกับ BRANDi and Companies และ The Cloud จัดงานเสวนา Summit of the Future and the Future of Multilateralism: Perspectives from Stakeholders เพื่อเป็นเวทีให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี บทบาทสหประชาชาติในการตอบสนองกับประเด็นท้าทายในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงความคาดหวังจากการประชุม Summit of the Future ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๓ กันยายน ๒๕๖๗ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

ในโอกาสนี้ นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นาย Guy Ryder รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านนโยบาย และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิด และนางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้กล่าวภาพรวมเกี่ยวสถานการณ์ของระบบพหุภาคินิยมในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหประชาชาติจำนวน ๗ ท่าน ได้แก่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๑ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตราภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร. เสรี นนทสูติ ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย และนายปิยะชาติ อิศรภักดี CEO BRANDi and Companies โดยมี ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ และในช่วงปิดท้ายของงานเสวนา ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO และอดีตเลขาธิการ UNCTAD ได้ให้เกียรติมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าร่วมการเสวนา

ผู้ทรงคุณวุฒิได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงระบบพหุภาคี การดำเนินงานของสหประชาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกในอนาคต และการผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ รวมถึงบทบาทของการประชุม Summit of the Future เพื่อขับเคลื่อนระบบพหุภาคีสู่อนาคตในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ในโอกาสนี้ ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ยังได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเอกสาร Pact for the Future ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม Summit of the Future และประเด็นที่ไทยควรจะให้ความสำคัญในการดำเนินความร่วมมือในสหประชาชาติในอนาคต

Summit of the Future เป็นข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อเป็นกระบวนการสำคัญในการฟื้นฟูระบบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง และการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยื่น (SDGs) ซึ่งผลของการประชุม Summit of the Future จะช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสหประชาชาติในระยะยาว

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ