เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาไทย-ลาตินอเมริกา ครั้งที่ ๔ ภายใต้หัวข้อ ?Flavours of Opportunities: Nourishing Trade and Investment between Thailand and Latin America? ซึ่งกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาและแคริบเบียนประจำประเทศไทย ๙ ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คิวบา กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามาและเปรู จัดขึ้น ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power
การสัมมนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพลวัตการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของกระทรวงการต่างประเทศที่มุ่งเปิดแนวรุกในตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับสินค้าไทยและเปิดประตูโอกาสการค้าการลงทุนเพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และโดยที่งานสัมมนาฯ ครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงเดียวกับงานแสดงสินค้า THAIFEX-Anuga Asia 2024 จึงเน้นกลุ่มสินค้าเป้าหมายด้านอาหารและการเกษตร ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยและลาตินอเมริกามีศักยภาพสูง
ในคำกล่าวเปิดงาน นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ย้ำถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่มีผู้บริโภคกว่า ๖๖๕ ล้านคน ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และในปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ ๒.๔ ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารและการเกษตรสำหรับผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของลาตินอเมริกาต่อไทยในฐานะที่เป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทย อีกทั้งยังมีกลไกทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี และไทย-เปรู
เอกอัครราชทูตและอุปทูตฯ สถานเอกอัครราชทูตประเทศลาตินอเมริกาฯ รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนได้ใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในลาตินอเมริกาฯและโอกาสในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในสาขาอาหารและการเกษตร รวมทั้งช่องทางและสิทธิประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในลาตินอเมริกาฯ ประกอบด้วย (๑) อาร์เจนตินา ย้ำศักยภาพของประเทศในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่หลากหลาย เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช เนื้อวัว ไวน์ ผนวกกับนโยบายที่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้บรรยากาศการลงทุนน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น (๒) ชิลี ให้ความสำคัญกับการมีความตกลงการค้าเสรีกับไทย รวมถึงมีหน่วยงานสนับสนุนการค้าการลงทุนของชิลีในไทย (สำนักงาน ProChile) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่างกัน (๓) เปรู เน้นส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่อุดมไปด้วยคุณค่าโภชนาการระดับสูง หรือซุปเปอร์ฟู้ด อันเป็นสินค้าสำคัญที่เปรูส่งเสริม (๔) ปานามา ย้ำข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คลองปานามาเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของโลก เชื่อมต่อท่าเรือกว่า ๑,๙๒๐ ท่าเข้าด้วยกัน (๕) โคลอมเบีย ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟรายใหญ่ของโลก มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ นำมาซึ่งโอกาสในการเป็นฐานการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products and Services: HVA) เช่น พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ FinTech (๖) คิวบา ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมาริเอล (Mariel) ประกอบกับจุดเด่นด้านอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนต่าง ๆ โดยเฉพาะวัคซีนต้านมะเร็ง และโควิด-๑๙(๗) กัวเตมาลา ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลาง มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว เกษตรกรรม
และอุตสาหกรรมสิ่งทอ อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟที่หลากหลาย เป็นที่สนใจของผู้บริโภคกาแฟทั่วโลก(๘) เม็กซิโก ในฐานะผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อโวคาโด เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ อีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการผลิต และให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ และ (๙) บราซิล ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตร ทำให้ผลผลิตของประเทศเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้าหลักอย่าง น้ำตาล กาแฟ ถั่วเหลือง โดยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพที่บราซิลจะเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบหลายประเภทมาไทยในราคาที่แข่งขันได้ในตลาด
นอกเหนือจากงานสัมมนาแล้ว กิจกรรมอื่นภายในงานประกอบด้วยงานแสดงสินค้าขนาดเล็ก (Mini Business Fair) ซึ่งเป็นโอกาสให้สถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาฯ ประจำประเทศไทย และบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยและลาตินอเมริกาฯ รวม ๑๕ บูธ ได้นำผลิตภัณฑ์สำคัญของแต่ละแห่งมาจัดแสดง และงานเลี้ยงอาหารกลางวันสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Business Networking Luncheon) เป็นโอกาสให้ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาฯ หน่วยงานภาครัฐของไทย และผู้ประกอบการจากบริษัทเอกชนลาตินอเมริกาฯ และไทยได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและความสนใจในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน
งานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นตามแนวนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดแนวรุกในตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับสินค้าไทย เช่นในกรณีของลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๖ มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน จำนวน ๑๗,๑๙๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๕ ประมาณร้อยละ ๓ และทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกมาก โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาฯ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ นักศึกษาและสื่อมวลชนกว่า ทั้งในสถานที่จัดงานและผ่านการช่องทาง Facebook Live ของกระทรวงการต่างประเทศ รวมประมาณ ๒๐๐ คน
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ