เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีรัฐมนตรีของประเทศหุ้นส่วน IPEF ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน ฟีจี อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เข้าร่วม และมีนาย Gan Kim Yong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ และนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็นประธานร่วมการประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศหุ้นส่วนได้ลงนามความตกลง IPEF จำนวน ๓ ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความตกลงว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองโดยความตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การดำเนินการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาล และจัดตั้งกลไกระดับรัฐมนตรีเพื่อกำกับดูแลความร่วมมือ IPEF ในภาพรวมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกัน
ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีดังกล่าว ประเทศหุ้นส่วนได้หารือกันถึงพัฒนาการการดำเนินการภายใต้เสาความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และแผนการดำเนินการในระยะต่อไป
โดยในส่วนเสาความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานซึ่งได้มีการลงนามความตกลงไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. ๒๕๖๗ และไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้วเมื่อเดือน พ.ค. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ประเทศหุ้นส่วนอยู่ระหว่างการเจรจาจัดตั้งกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่เสาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศหุ้นส่วนได้หารือความคืบหน้าในการดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้ Cooperative Work Programme เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสำหรับเสาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ประเทศหุ้นส่วนได้เห็นชอบความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อให้การดำเนินการด้านการต่อต้านการทุจริตและการจัดเก็บภาษีของประเทศหุ้นส่วนเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการะทรวงการต่างประเทศยินดีกับพัฒนาการที่สำคัญใน IPEF โดยเฉพาะ
การลงนามความตกลง ๓ ฉบับข้างต้น พร้อมทั้งกล่าวถึงการดำเนินการของไทยภายใต้ IPEF ทั้งในการให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การเข้าร่วมโครงการความร่วมมือภายใต้ Cooperative Work Programme ในด้านไฮโดรเจน ด้านตลาดคาร์บอน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและย้ำความพร้อมดำเนินความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพด้านความโปร่งใสทางภาษีและการต่อต้านการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อน IPEF และยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีกลไกทางการเงินที่จะสนับสนุนความร่วมมือ IPEF ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการความสำคัญของการร่วมผลักดันนำวิสัยทัศน์ร่วมกันของประเทศหุ้นส่วนไปปฏิบัติให้เป็นจริง เพื่อให้ IPEF บรรลุเป้าหมายในการสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ