สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น.

ข่าวต่างประเทศ Monday June 24, 2024 13:46 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว

และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS

เมื่อวันที่ ๙ - ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่าง BRICS กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด รัสเซีย ภายใต้วาระการเป็นประธาน BRICS ของรัสเซีย และได้กล่าวถ้อยแถลงในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในหัวข้อ ?การส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการพัฒนาและความมั่นคงระดับโลกที่เป็นธรรม?

ในคำกล่าว รัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความสำคัญของ BRICS ที่ส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบพหุภาคี ซึ่งไทยสามารถมีส่วนร่วมในการยกระดับความร่วมมือของ BRICS โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง BRICS กับกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นสมาชิก นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอให้ BRICS ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วต่อไป

ประโยชน์หลักที่ไทยได้รับจากการประชุมครั้งนี้ คือ ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิก BRICS ซึ่งไม่ใช่การเลือกข้างหรือการรวมกลุ่มเพื่อคานอำนาจฝ่ายใด แต่จะช่วยส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของไทยให้มีบทบาทร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ในการชี้นำหรือวางแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลก เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเสมอภาค ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้การพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย อีกทั้งพบปะกับผู้แทนระดับสูงจากนานาประเทศ และได้ใช้โอกาสนี้ผลักดันการเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของไทยต่อไป

๒. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสันติภาพในยูเครน (The Summit on Peace in Ukraine) ที่สวิตเซอร์แลนด์

เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสันติภาพในยูเครน (The Summit on Peace in Ukraine) ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้เข้าร่วมจาก ๙๒ ประเทศ ๘ องค์การระหว่างประเทศ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถ้อยแถลง โดยเน้นย้ำว่า โลกจำเป็นต้องเสริมสร้างสันติภาพอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับยูเครนในการรักษาความมั่นคงทางอาหารโลก ซึ่งถือเป็นบทบาทของไทยในฐานะ ?ครัวของโลก? อยู่แล้ว ผ่านการสนับสนุนข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยรักษาความมั่นคงของระบบอาหารโลกในยามวิกฤตอย่างเต็มที่ อีกทั้งไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือยูเครนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่เกษตรกรรมจากภาวะสงคราม

ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอดกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ผ่านการเจรจาและทางการทูตบนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครนมาอย่างต่อเนื่อง

การเข้าร่วมการประชุมนี้แสดงให้เห็นว่า ไทยสนับสนุนความพยายามของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ความขัดแย้งยุติโดยเร็ว และไทยจะร่วมสนับสนุนการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหราชอาณาจักร และอธิบดีกรมกิจการการเมืองเนเธอร์แลนด์ เพื่อหารือและผลักดันประเด็นด้านทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศดังกล่าวด้วย

๓. ความคืบหน้าการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย

เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ คณะมนตรีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีมติเห็นชอบให้เชิญไทยเข้าสู่กระบวนการการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย

ขั้นตอนต่อไป ไทยจะร่วมกับ OECD จัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) เพื่อกำหนดเป้าหมาย เงื่อนไข และกรอบเวลาในการดำเนินการให้สอดคล้องกับตราสารของ OECD

การตอบรับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีค่านิยมและเป้าหมาย ได้แก่ ประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และตลาดที่เปิดกว้างและโปร่งใส สอดคล้องกับประเทศสมาชิก OECD มีบทบาทด้านการทูตเศรษฐกิจที่แข็งขัน รวมถึงมีความร่วมมือกับ OECD มาอย่างต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์อันดีประเทศสมาชิก OECD

การหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยมุ่งที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างไทยกับ OECD และประเทศสมาชิก เพื่อยกระดับมาตรฐานและปรับปรุงนโยบายภายในของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะด้านการลงทุน การค้า ธรรมาภิบาล การแข่งขันที่เป็นธรรม การพัฒนานวัตกรรม และการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

การดำเนินการตามแผนการเข้าเป็นสมาชิกจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งช่วยเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระยะยาว

๔. ภารกิจการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในห้วงสัปดาห์หน้า

๔.๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ ๑๙ ที่กรุงเตหะราน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ ๑๙ ที่กรุงเตหะราน อิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๗

ACD ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยการริเริ่มของไทย ปัจจุบันมีสมาชิก ๓๕ ประเทศ เป็นเวทีเดียวที่มุ่งหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้ในเชื้อใจ และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงหาแนวทางรับมือความท้าทายต่าง ๆ ของโลก

ประธาน ACD จะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีปีละครั้ง โดยปีนี้อิหร่านเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ขณะที่ไทยได้แจ้งความประสงค์ขอเป็นประธาน ACD วาระปี ๒๕๖๘ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ไทยต้องการผลักดันประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้กรอบ ACD มีพลวัตต่อเนื่องและยั่งยืน ยกระดับให้ ACD เป็นเวทีหารือระดับนโยบายที่มีความหมายและตรงประเด็นสำหรับภูมิภาคเอเชีย ใช้ประโยชน์จากกรอบ ACD ในการทำให้ไทยเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระหว่างประเทศ และขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

๔.๒ การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีภูฏาน

ดาโช เชริง โตบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏานและภริยา มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีภูฏาน หลังจากเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗

การเยือนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะในปีนี้ที่เป็นโอกาสครบรอบ ๓๕ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ภูฏาน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา พลังงานสะอาด และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนของไทยในโครงการเมืองอัจฉริยะ Gelephu Mindfulness City ของภูฏานด้วย

นายกรัฐมนตรีภูฏานมีกำหนดการพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ โดยจะมีพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ การหารือเต็มคณะ การแถลงข่าวร่วม การหารือระหว่างอาหารกลางวัน รวมถึงการร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยกับภูฏาน ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูฏาน และ (๒) บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกรมการแพทย์ กับ Khesar Gyalpo University of Medical Sciences ภูฏาน

ระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรีภูฏานมีกำหนดจะเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย อาทิ การพบปะผู้แทนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว และการกล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๕. การคืนโบราณวัตถุชิ้นส่วนปราสาทหินพนมรุ้งจากสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกกลับสู่ประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก แจ้งความประสงค์ที่จะส่งคืนเสาติดผนังสลักจากหินทรายรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะให้แก่ไทย โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า เป็นเสาติดผนังด้านซ้ายของกรอบประตูมณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งคาดว่าถูกลักลอบนำออกไปจากไทยเมื่อปี ๒๕๐๘ ก่อนที่กรมศิลปากรจะเริ่มโครงการบูรณะปราสาทฯ

ก่อนจะมีการพิจารณาส่งคืน ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันฯ ได้ทำการศึกษาโบราณวัตถุดังกล่าวแล้วและพบว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นเสาติดผนังที่มีอายุในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ และคาดว่า น่าจะเป็นชิ้นส่วนจากปราสาทหินพนมรุ้งของไทย จึงได้เริ่มประสานงานตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย เมื่อได้รับการยืนยันจากกรมศิลปากร สถาบันฯ จึงได้จัดทำความตกลงระหว่างกันเพื่อคืนโบราณวัตถุชิ้นนี้ให้แก่ไทย โดยคณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของสถาบันฯ ได้เห็นชอบให้ถอดโบราณวัตถุรายการนี้ออกจากทะเบียนของสถาบันฯ แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก มีบทบาทในการประสานงานเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยได้ประสานกับสถาบันฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากร เพื่อดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งจะประสานรายละเอียดเพิ่มเติมกับทุกฝ่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนและการจัดส่งโบราณวัตถุดังกล่าวกลับสู่ไทยต่อไป

  • * * * *

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ