สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ข่าวต่างประเทศ Friday July 19, 2024 13:13 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

๑. รายงานผลการจัดกิจกรรมปฐมฤกษ์ โครงการเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และชุด ส.ก. พ.ศ. ๒๕๕๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ

เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมปฐมฤกษ์ โครงการเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และชุด ส.ก. พ.ศ. ๒๕๕๙ แก่นานาประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๖๕๗

กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล จัดนิทรรศการเกี่ยวกับบทบาทของไทยในการอนุรักษ์ พัฒนา และเผยแผ่พระไตรปิฎกไปยังนานาประเทศ รวมถึงจัดงานเสวนา ?เกร็ดชวนไขของพระไตรปิฎก? เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับแง่มุมที่น่าสนใจต่าง ๆ ของพระไตรปิฎก ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านการถอดเสียงภาษาบาลีให้มีมาตรฐานสากล รวมถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อพระพุทธศาสนาด้วย โดยมีวิทยากรพิเศษร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ รองศาสตราจารย์ ดร. ศศี พงศ์สรายุทธ และคุณชนัญญา เตชจักรเสมา (YouTube ?Point of View?)

กิจกรรมปฐมฤกษ์ครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้แทนภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนา รวมกว่า ๓๐๐ คน

สำหรับขั้นตอนต่อไป กระทรวงฯ จะดำเนินการร่วมกับมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกสากล ฉบับดังกล่าว ไปยัง ๓๖ ประเทศและ ๒ องค์การระหว่างประเทศ

๒. ผลการเยือนซาอุดีอาระเบียของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีฯ ได้เดือนทางเยือนซาอุดีฯ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ กรุงริยาด ตามคำเชิญของเลขาธิการ BOI และนำคณะเอกชนไทยร่วมการประชุม Thai - Saudi Investment Forum และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ซาอุดีฯ โดยกิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จมาก มีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมกว่า ๒๐๐ บริษัท และมีการจับคู่ธุรกิจกว่า ๑๐๐ คู่

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้พบหารือกับผู้แทนระดับสูงของภาครัฐ ได้แก่ รัฐมนตรีการลงทุนซาอุดีฯ รัฐมนตรีสาธารณสุขซาอุดีฯ และรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรซาอุดีฯ รวมถึงบริษัทชั้นนำของซาอุดีฯ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจนำเข้าปศุสัตว์ บริษัท BUPA Arabia (ประกัน) บริษัท AlBaik (อาหาร) บริษัท Ceer Motors (รถยนต์)และบริษัท SALIC (การเกษตรและปศุสัตว์)

จากการเดินทางครั้งนี้ รัฐมนตรีฯ ได้ผลักดัน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่

(๑) ความมั่นคงอาหาร ส่งเสริมโอกาสในการค้าโคมีชีวิตและเนื้อโคระหว่างกัน รวมถึงการลงทุนของธุรกิจโรงเชือดของซาอุดีฯ ในไทย เพื่อเพิ่มมาตรฐานและประสิทธิภาพให้เนื้อโคไทยขายได้ราคาดี และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญมากขึ้น

(๒) ความมั่นคงพลังงาน ส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นจุดเด่นของซาอุดีฯ และด้านพลังงานสีเขียว โดยเฉพาะ Green Hydrogen การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งออกต้นไม้ไปซาอุดีฯ ตามนโยบาย Green Saudi Initiative ของซาอุดีฯ

(๓) ความมั่นคงมนุษย์ ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลในไทย ธุรกิจสปาและ wellness รวมถึงการผลิตยา ตลอดจนการผลักดันการจัดทำ MOU และ Action Plan ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของทั้งสองประเทศในอนาคต

๓. การเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สระแก้ว และการลงพื้นที่ศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีฯ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางฯ สระแก้วอย่างเป็นทางการ โดยมีอธิบดีกรมการกงสุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผู้แทนภาครัฐของกัมพูชา ภาคเอกชนไทยในพื้นที่เข้าร่วมในพิธี อีกทั้งได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้สำนักงานฯ มุ่งเน้นการทำงานอย่างมีบูรณาการกับจังหวัดสระแก้ว ในการให้บริการและขับเคลื่อนนโยบายการทูตสาธาณะ เพื่อส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยเฉพาะการค้าชายแดนและความมั่นคงระหว่างกัน

สำนักงานหนังสือเดินทางฯ สระแก้ว จัดตั้งขึ้นตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในสระแก้วในการรับบริการทำหนังสือเดินทาง เพื่อใช้เดินทางผ่านเข้าออกชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ซึ่งเป็นประตูการค้าชายแดนที่สำคัญและเป็นประตูทางผ่านของนักท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับเมืองเสียมราฐของกัมพูชา

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รัฐมนตรีฯ ได้ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว เพื่อศึกษาสถานการณ์การค้าและการลงทุนในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาและติดตามความคืบหน้าในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว รวมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และแนวทางการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในฝั่งกัมพูชา ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่

๔. การประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum (HLPF) on Sustainable Development) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก และได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วง General Debate ของการประชุม HLPF เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ย้ำความมุ่งมั่นในการเร่งรัดดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงประเด็นอื่น ๆ อาทิ กลไกการเงินและแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดช่องว่างด้านดิจิทัล การคุ้มครองทางสังคมและการสาธารณสุขอีกทั้งได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระ ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของกลไกดังกล่าวด้วย

ในโอกาสเดียวกัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UNSC Open Debate หัวข้อ ?ความร่วมมือพหุภาคีเพื่อระเบียบโลกที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และยั่งยืนมากขึ้น? ย้ำความยึดมั่นของไทยต่อระบบพหุภาคีและนำเสนอประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนให้ UN สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ การปฏิรูป UNSC ให้มีส่วนร่วมที่หลากหลาย การส่งเสริมให้ UN ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ และเน้นบทบาทของสตรีในด้านสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างความสอดประสานระหว่างสันติภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความมั่นคงของมนุษย์ในภารกิจของ UN

นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้พบหารือกับ (๑) นาย Guy Ryder รองเลขาธิการ UN ด้านนโยบาย ถึงการสร้างเสริมระบบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำความเชื่อมั่นของไทยในระบบพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (๒) Kyung-wha Kang ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asia Society ซึ่งป็นองค์กรด้านการศึกษาที่ไม่แสวงผลกำไรชั้นนำ เพื่อมุ่งส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในสหรัฐฯ ด้วย

๕. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสัปดาห์หน้า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๗ และการประชุมระดับรัฐมนตรีทีเกี่ยวข้อง ณ เวียงจันทน์

ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีฯ จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม AMM ครั้งที่ ๕๗ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่เวียงจันทน์ สปป. ลาวพร้อมผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน อีกทั้งสนับสนุน ASEAN Centrality และ ASEAN unity ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ใน ๑๘ กรอบการประชุม โดยจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนจากอีก ๓๐ ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ หารือพัฒนาการความร่วมมือของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก ?ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience? ของ สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน และเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๔๔ และครั้งที่ ๔๕ ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๗ ที่เวียงจันทน์

การประชุมจะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ รัสเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (EU) โดยอาศัยกรอบการประชุมอาเซียน ๓ กรอบ ได้แก่ อาเซียนบวกสาม กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงพัฒนาการในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ จะถือโอกาสนี้หารือทวิภาคีกับมิตรประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในช่วงเดียวกัน เพื่อผลักดันนความร่วมมือในสาขาที่สนใจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

การประชุมในกรอบอาเซียนมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการประชุมที่หารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ประเทศอาเซียนให้ความสำคัญ ทั้งการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม รวมถึงวางกลยุทธ์ กำหนดทิศทาง และหาทางออกประเด็นสำคัญร่วมกัน ตลอดจนเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศด้วย

๖. ความคืบหน้าของกรณีฆาตกรรมชาวต่างชาติ ๖ ราย

ตามที่ได้มีเหตุการณ์เสียชีวิตของชาวต่างชาติ ๖ ราย โดยเป็นชาวเวียดนาม ๔ ราย และชาวเวียดนามสัญชาติอเมริกัน ๒ ราย เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านราชประสงค์ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างยิ่ง โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปสถานที่เกิดเหตุด้วยตนเองตั้งแต่เกิดเหตุ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโดยด่วนถึงสาเหตุของการเสียชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าว รวมถึงได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามและสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้น

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจชุดคลี่คลายคดี ได้แถลงความคืบหน้าของคดีแล้ว และผลการชันสูตรศพเป็นในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งข้อสันนิษฐานว่าสารพิษที่ได้รับ คือ ไซยาไนด์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอตรวจเพิ่มเติมอีก ๑-๒ วัน ทั้งนี้ ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในกระเป๋าเดินทาง จึงคาดว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลและไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอาชญกรรมข้ามชาติแต่อย่างใด

ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลนักท่องเที่ยว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงอื่น ๆ พร้อมที่จะดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดต่าง ๆ ของไทย

๗. การปรับปรุงการตรวจลงตราของไทยเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุก

เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ กระทรวงมหาดไทยออกประกาศมาตรการด้านการตรวจลงตราระยะสั้น ๔ ฉบับ ซึ่งมีผลใช้บังคับทันที เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาลและแนวทาง Re-ignite Thai Diplomacy ของรัฐมนตรีฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของไทย อำนวยความสะดวกผู้เดินทาง รวมถึงสร้างความเข้าใจอันดีและความผูกพันในระดับประชาชนมากขึ้น โดยกระทรวงฯ ดำเนินการต่าง ๆ ผ่านกลไกที่รับผิดชอบ รวมถึงการตรวจลงตรา โดยประกาศมีรายละเอียด ดังนี้

ประกาศฉบับแรก เพิ่มประเทศและดินแดนที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า และสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน ๖๐ วัน เพื่อท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ หรือทำงานระยะสั้น โดยบุคคลที่มีสัญชาติของ ๙๓ ประเทศ/ดินแดน (เพิ่มจากเดิมที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจาก ๕๗ ประเทศ/ดินแดนอยู่ได้ไม่เกิน ๓๐ วัน )

ประกาศฉบับที่สอง ให้บุคคลที่มีสัญชาติของ ๓๑ ประเทศ/ดินแดน สามารถเดินทางเข้ามาขอรับวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (หรือ Visa on Arrival - VOA) โดยมีค่าธรรมเนียม ๒,๐๐๐ บาท และพำนักในประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยวได้ไม่เกิน ๑๕ วัน (เพิ่มจาก VOA เดิม ๑๙ ประเทศ/ดินแดน)

ประกาศฉบับที่สาม เพิ่มวีซ่าประเภทใหม่ ?Destination Thailand Visa? หรือ DTV มีอายุใช้งาน ๕ ปี ค่าธรรมเนียม ๑๐,๐๐๐ บาท สามารถพำนักในประเทศไทยครั้งละไม่เกิน ๑๘๐ วัน รองรับสถานการณ์ปัจจุบันและตอบโจทย์คนต่างชาติ ๓ กลุ่ม คือ (๑) นักท่องเที่ยวที่ทำงานทางไกล (๒) นักท่องเที่ยวที่ประสงค์ทำกิจกรรมอื่น โดยเฉพาะกิจกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และ (๓) กลุ่มคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีอายุไม่เกิน ๒๐ ปีของผู้ที่ถือวีซ่า DTV โดยวีซ่า DTV

ประกาศฉบับสุดท้าย ให้นักศึกษาต่างชาติที่เรียนปริญญาตรี โท เอก ในไทย (วีซ่า Non-ED Plus) สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาอยู่ต่อในไทย การยกเว้นการขอ Re-entry Permit และสิทธิขออยู่ต่อในไทยอีก ๑ ปี หลังสำเร็จการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้มีทักษะสูง และมีความรักและเข้าใจเมืองไทยอยู่แล้ว ทำงานในประเทศไทย

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ