นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นประธานร่วมกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ ๙ ซึ่งจะจัดขึ้น ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
การประชุมครั้งนี้มีประเด็นหารือที่สำคัญคือการทบทวนและกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตของกรอบ MLC รวมถึงประเทศไทยจะผลักดันความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM 2.5) และปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด และอาชญากรรมไซเบอร์ ตลอดจนการฉ้อโกงผ่านช่องทางโทรคมนาคม ในการนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะให้เกียรติมากล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมในหัวข้อ ?สู่ประชาคมแม่โขง-ล้านช้างที่ปลอดภัยและสะอาดยิ่งขึ้น? (?Towards Safer and Cleaner Mekong Lancang Community?) เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นและผลักดันความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในกรอบ MLC นอกจากนั้น ยังจะมีการหารือความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยและตอบโจทย์การพัฒนาในบริบทความท้าทายปัจจุบันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยที่ประชุมจะรับรองเอกสารผลลัพธ์ ๔ ฉบับ ได้แก่ (๑) ร่างแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๙ (๒) ร่างข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขง (๓) ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง-ล้านช้าง และ (๔) ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง
กรอบ MLC เป็นข้อริเริ่มของไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยมีจีนเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ผ่านความร่วมมือ ๓ เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสังคมและวัฒนธรรม และ ๕ สาขาหลัก ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยง (๒) ศักยภาพในการผลิต (๓) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน (๔) ทรัพยากรน้ำ และ (๕) การเกษตรและการขจัดความยากจน โดยนับเป็นกรอบความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำกรอบแรกที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมอย่างครอบคลุม อีกทั้งยังมีความร่วมมือก้าวหน้าเป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจีนสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นกองทุนให้แก่โครงการจากประเทศสมาชิก MLC มากกว่า ๘๐๐ โครงการ โดยเป็นโครงการของไทย ๙๓ โครงการ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยเป็นประธานกรอบ MLC ร่วมกับจีนสำหรับวาระปี ๒๕๖๗-๒๕๖๘
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ