เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมประกาศคำมั่นของผู้สมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 "Human Rights Council Elections 2024: Discussions of Candidate States' Visions" ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งร่วมจัดโดย Amnesty International และ International Services for Human Rights (ISHR) และได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนถาวรบัลแกเรีย ณ นครนิวยอร์ก
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมองค์การฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิก HRC ของไทย ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ โดยในระดับระหว่างประเทศ ไทยให้คำมั่นที่จะผลักดันให้การทำงานของ HRC นำไปสู่พัฒนาการสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้นในพื้นที่จริงผ่าน (1) การเป็นสมาชิกที่แสดงบทบาทสร้างสรรค์ เสริมสร้างการหารือ และการเป็นผู้ประสานท่าทีต่าง ๆ (bridge-builder) (2) การส่งเสริมให้งานของ HRC ครอบคลุมทุกมิติของสิทธิมนุษยชน ตลอดจนตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป (3) การส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน และ (4) การส่งเสริมให้ HRC มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น
ส่วนในระดับภายในประเทศ ไทยมีพัฒนาการที่ดีในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) และการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) และจะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้นอีก ทั้งสิทธิทางการเมือง พลเรือน และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ ไทยจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความยุติธรรมทางสังคม รวมถึงคุ้มครองผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง อนึ่ง ไทยจะรับการเยือนอย่างเป็นทางการของคณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิงซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้ HRC ในเดือนธันวาคมปีนี้
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นปีที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ. 2025-2027 นำเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ใน HRC รวมถึงตอบข้อสอบถามของผู้แทนภาคประชาสังคม โดยในปีนี้ มีประเทศผู้สมัคร 12 ประเทศ (จากทั้งหมด 19 ประเทศ) เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ โคลอมเบีย ไซปรัส เช็กเกีย ไอซ์แลนด์ หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาซิโดเนียเหนือ กาตาร์ เกาหลีใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และไทย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ