เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกของกรอบ Foreign Ministry Channel for Global Health Security (FMC GHS) ซึ่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ และมีนาย Anthony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธาน โดยมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศและองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วม
ผู้แทนประเทศสมาชิกกลุ่มและองค์การระหว่างประเทศได้หารือและแลกเปลี่ยนในประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพที่สำคัญ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (Monkey pox) การเจรจาตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกัน การเตรียมพร้อม และการรับมือกับการระบาดใหญ่ (Pandemic Treaty) การสนับสนุนกองทุนโรคระบาด (Pandemic Fund) โครงการการฉีดวัคซีนโปลิโอให้แก่เด็กในฉนวนกาซาภายใต้มาตรการหยุดยิง ภัยสาธารณสุขจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงทางสุขภาพ การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าสาธารณสุขระหว่างประเทศ และการสร้างเสริมความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางสุขภาพให้นักการทูต รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างและกลไกธรรมภิบาลด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ทั้งยังได้แจ้งเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยในการให้ความช่วยเหลือหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาผ่านโครงการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างขีดความสามารถในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ในการประชุมครั้งนี้ มี 20 ประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ แคนาดา ฟินแลนด์ โมร็อกโก นอร์เวย์ สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย บังกลาเทศ เยอรมนี สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย สวีเดน และอินเดีย รวมถึงสหภาพยุโรป ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประจำแอฟริกา (Africa Centers for Disease Control and Prevention) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ซึ่งนาย Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เข้าร่วมด้วยตนเอง
กรอบ FMC GHS เป็นข้อริเริ่มของสหรัฐฯ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2567 โดยให้ความสำคัญกับการทูตสาธารณสุขเพื่อช่วยขับเคลื่อนวาระงานสาธารณสุขโลกที่สำคัญและยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจจับ และรับมือกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขทั่วโลก
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ