ภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ติดตามนายกรัฐมนตรี ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน 2567 ที่กรุงลิมา เปรู
1. การประชุมในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 (14 พฤศจิกายน 2567) การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคแบบไม่เป็นทางการ (retreat) และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 (15 - 16 พฤศจิกายน 2567)
2. การประชุมในกรอบเอเปคเป็นการประชุมประจำปีที่มีผู้เข้าร่วมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมร้อยละ 38 ของโลก มี GDP รวมร้อยละ 62 ของโลก และมีมูลค่าการค้ารวมร้อยละ 48 ของโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนายกรัฐมนตรีที่จะพบหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำจากเขตเศรษฐกิจอื่น
3. ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
(1) ติดตามและขยายผลในสิ่งที่ไทยได้ผลักดันและวางแนวทางไว้เมื่อครั้งเป็นประธานเอเปค เมื่อปี 2565 โดยเฉพาะการพัฒนาการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (FTAAP) ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงมีความแตกต่างในการพัฒนาอยู่อีกมาก
(2) ความครอบคลุมและความเท่าเทียม โดยการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งสะท้อนนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการภายในประเทศขณะนี้ อาทิ การประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) และการช่วยเหลือสังคมผู้สูงอายุ
(3) การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการค้าและ e-commerce การผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ AI ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบในระบบ
(4) การส่งเสริมการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งไทยมีความโดดเด่น ตั้งแต่การวางแนวทาง Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy เมื่อครั้งเป็นประธานเอเปค เมื่อปี 2565 โดยมีการวางรากฐานไว้อย่างดีและมีการมอบรางวัล BCG Awards มาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ จะมอบในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567
4. นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้พบกับภาคเอกชนของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทชั้นนำของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ อาทิ Apple Google Amazon Microsoft 3M IBM และ CITI ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์ว่า ไทยพร้อมร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนกับบริษัทต่าง ๆ (Thailand is back in business and open) รวมถึงให้ความมั่นใจว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อม โดยเฉพาะมีแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ต้องการ
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ