เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 31 ซึ่งมีนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีเปรู เป็นประธานการประชุม ที่กรุงลิมา เปรู
การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดีและบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยผู้นำฯ ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2567 (2024 APEC Economic Leaders? Declaration) (2) ถ้อยแถลงอิชมาว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Ichma Statement on a New Look to advance the Free Trade Area of the Asia-Pacific) และ (3) แผนงานลิมาเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค (Lima Roadmap to Promote the Transition to the Formal and Global Economy)
ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนระบบพหุภาคี ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน สร้างโอกาสให้แก่คนทุกกลุ่มโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งขับเคลื่อนการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านความพยายามในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) และการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการขยายขอบเขตการใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปค (ABTC) เพื่อยกระดับความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และอำนวยความสะดวกแก่การเดินทางของ digital nomads
ในด้านความยั่งยืนที่ไทยมีบทบาทนำในเอเปค นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันให้สมาชิกเอเปคร่วมสานต่อการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี (Bangkok Goals on BCG Economy) โดยเสนอให้เอเปคร่วมตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาตลาดและการค้าคาร์บอนเครดิต รวมถึงส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร (AgriTech) ซึ่งในโอกาสดังกล่าว ไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเป็น ?สะพานเชื่อม? ส่งเสริมการขยายความร่วมมือข้างต้นระหว่างสมาชิกเอเปคกับหุ้นส่วนความร่วมมืออื่น ๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ