เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เป็นผู้ประกาศผล และมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ นายแซม เบควิท ผู้อำนวยการด้านสุขภาพประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะผู้แทนเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยและนายดิ๊ก คัสติน ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม ในฐานะผู้แทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ผลการตัดสินผู้ได้รับเลือกเป็นผู้รับพระราชทานรางวัลฯ ดังนี้
สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. โทนี ฮันเตอร์ จากสหราชอาณาจักร / สหรัฐฯ สำหรับการค้นพบเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส และกระบวนการฟอสโฟรีเลชั่น นำไปสู่การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า ทำให้เกิดการพัฒนายาที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด จากสหราชอาณาจักร สำหรับการริเริ่มคาร์ดิฟฟ์โมเดลเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง ซึ่งเป็นเครื่องมือและนวัตกรรมทางสาธารณสุขสำหรับการลดเหตุความรุนแรงในชุมชน
ในโอกาสนี้ ผู้แทนเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรฯ และผู้แทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้กล่าวขอบคุณและกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่พลเมืองของตนได้รับเลือกเป็นผู้รับพระราชทานรางวัลในปีนี้ ทั้งยังย้ำถึงความสัมพันธ์ทางสาธารณสุขที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ มีต่อประเทศไทย รวมถึงความมุ่งมั่นในการสานต่อความสัมพันธ์นี้ต่อไป
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจัดตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในฐานะ ?องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย? มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงาน ทั้งนี้ พิธีพระราชทานรางวัลฯ มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2568 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ