เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: ICS-ICH) ครั้งที่ 19 ณ กรุงอาซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย มีมติให้ขึ้นทะเบียน ?เคบายา? หรือ ?Kebaya: knowledge, skills, traditions and practices? ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity ? บัญชี RL) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
การขึ้นทะเบียน ?เคบายา? เป็นการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมร่วมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดย ?เคบายา? เป็นเสื้อสตรีพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งของการแต่งกายบาบ๋า - เพอรานากันในภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มคนที่มีเชื้อสายจีนและมลายูจากปีนังและมะละกาที่ได้เดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลภูเก็ต ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้เกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมระหว่างผู้ที่เข้ามาและคนในท้องถิ่นดั้งเดิม นอกจากความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าความงามแล้ว การขึ้นทะเบียน ?เคบายา? เป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันของ 5 ประเทศ ยังสะท้อนถึงความผูกพันและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศที่สืบทอดผ่านการมีวัฒนธรรมร่วมกันมายาวนาน
ปัจจุบัน ไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชี RL แล้ว 6 รายการ ได้แก่ โขน (ปี 2561) นวดไทย (ปี 2562) โนรา (ปี 2564) สงกรานต์ในประเทศไทย (ปี 2566) ต้มยำกุ้ง (ปี 2567) และเคบายา (ปี 2567 ? ขึ้นทะเบียนร่วมกับบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์)
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ