เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ พบหารือกับพลเอกศักดิ์สิทธิ์ แสงชนินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทยภายใต้พันธกรณีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention: APMBC) โดยมีผู้แทนจาก ศทช. กรมเอเชียตะวันออก และกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแผนงานและแนวทางการดำเนินการตามผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 5 (RevCon5) เมื่อวันที่ 25 - 29 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองเสียมราฐ กัมพูชา ซึ่งรวมถึงการรับรองแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ ฉบับปี ค.ศ. 2025 - 2029 (Siem Reap-Angkor Action Plan 2025 - 2029)
ในปัจจุบัน อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมีรัฐภาคี 164 ประเทศ โดยไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ พันธกรณีของไทยในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ได้แก่ การไม่ใช้ พัฒนา ผลิต และสะสม จัดเก็บ และถ่ายโอนทุ่นระเบิดฯ การเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดฯ ที่เก็บสะสมไว้ในคลัง การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดฯ และการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดฯ ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ