แท็ก
ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
กระทรวงการต่างประเทศ
พายุไซโคลนนากิส
ประเทศสิงคโปร์
นพดล ปัทมะ
ภัยพิบัติ
กรุงเทพ--20 พ.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูกับพม่ากรณีเหตุภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนากิสในวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ณ โรงเรมแชงกรี-ล่า ประเทศสิงคโปร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะเพื่อเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
รูปแบบการประชุมในครั้งนี้จะเริ่มด้วยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งจะจัดขึ้นก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ในช่วงเย็นของวันที่ 18 พฤษภาคม 2551 หลังจากนั้น ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในช่วงอาการกลางวัน (Working Lunch) และตามด้วยการประชุมเต็มคณะ (plenary session) รวม 3 ชั่วโมง ท้ายสุด จะมีการแถลงข่าวร่วม โดยคาดว่าจะมีการออกถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ด้วย
การประชุมดังกล่าว นอกจากเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือกับพม่าโดยผ่านกลไกของอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติแล้ว ยังเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้รับฟังคำชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า เกี่ยวกับสถานะล่าสุดของผลกระทบจากพายุไซโคลนนากิสและความต้องการของพม่า นอกจากนั้น ยังจะได้รับฟังความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือในระดับทวิภาคีจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงบทบาทของอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือกับพม่าจากเลขาธิการอาเซียนด้วย
สำหรับไทย การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเสนอต่อที่ประชุมถึงความพร้อมของไทยในการให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือพม่ากรณีไซโคลนนากิส ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ให้ความช่วยเหลือกับพม่าและได้พยายามเป็นตัวกลางประสานระหว่างรัฐบาลพม่ากับประเทศอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยประสงค์จะรับฟังความต้องการของฝ่ายพม่าเพื่อจะได้สามารถให้ความช่วยเหลือได้สอดคล้องตามความต้องการ โดยไทยจะเน้นส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือในขั้นต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูและบูรณะ
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือกับพม่าผ่านกลไกของอาเซียน อาทิ ความร่วมมืออาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management หรือ ACDM) นั้น ไทยเห็นว่าสามารถดำเนินควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับทวิภาคีจากประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศได้ ซึ่งสำหรับไทยนั้น ตามสถานะ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 ได้มอบเงินช่วยเหลือไปแล้ว 600,000 เหรียญสหรัฐ รวมถึงสิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวน 143 ตัน รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท (ประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลำเลียงโดยเครื่องบิน C-130 จำนวน 11 เที่ยว และได้ส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เดินทางเข้าพม่าเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 51 โดยมีกำหนดระยะเวลา 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้จัดตั้ง “ศูนย์รับบริจาคและประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนากิสในสหภาพพม่า” ขึ้น โดยมีคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนากิส ทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายแนวทางการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูกับพม่ากรณีเหตุภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนากิสในวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ณ โรงเรมแชงกรี-ล่า ประเทศสิงคโปร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะเพื่อเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
รูปแบบการประชุมในครั้งนี้จะเริ่มด้วยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งจะจัดขึ้นก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ในช่วงเย็นของวันที่ 18 พฤษภาคม 2551 หลังจากนั้น ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในช่วงอาการกลางวัน (Working Lunch) และตามด้วยการประชุมเต็มคณะ (plenary session) รวม 3 ชั่วโมง ท้ายสุด จะมีการแถลงข่าวร่วม โดยคาดว่าจะมีการออกถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ด้วย
การประชุมดังกล่าว นอกจากเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือกับพม่าโดยผ่านกลไกของอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติแล้ว ยังเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้รับฟังคำชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า เกี่ยวกับสถานะล่าสุดของผลกระทบจากพายุไซโคลนนากิสและความต้องการของพม่า นอกจากนั้น ยังจะได้รับฟังความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือในระดับทวิภาคีจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงบทบาทของอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือกับพม่าจากเลขาธิการอาเซียนด้วย
สำหรับไทย การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเสนอต่อที่ประชุมถึงความพร้อมของไทยในการให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือพม่ากรณีไซโคลนนากิส ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ให้ความช่วยเหลือกับพม่าและได้พยายามเป็นตัวกลางประสานระหว่างรัฐบาลพม่ากับประเทศอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทยประสงค์จะรับฟังความต้องการของฝ่ายพม่าเพื่อจะได้สามารถให้ความช่วยเหลือได้สอดคล้องตามความต้องการ โดยไทยจะเน้นส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือในขั้นต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูและบูรณะ
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือกับพม่าผ่านกลไกของอาเซียน อาทิ ความร่วมมืออาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management หรือ ACDM) นั้น ไทยเห็นว่าสามารถดำเนินควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับทวิภาคีจากประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศได้ ซึ่งสำหรับไทยนั้น ตามสถานะ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 ได้มอบเงินช่วยเหลือไปแล้ว 600,000 เหรียญสหรัฐ รวมถึงสิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวน 143 ตัน รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท (ประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลำเลียงโดยเครื่องบิน C-130 จำนวน 11 เที่ยว และได้ส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เดินทางเข้าพม่าเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 51 โดยมีกำหนดระยะเวลา 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้จัดตั้ง “ศูนย์รับบริจาคและประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนากิสในสหภาพพม่า” ขึ้น โดยมีคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนากิส ทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายแนวทางการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-