สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว
และทาง Facebook/TikTok live กระทรวงการต่างประเทศ
1. การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (5-8 กุมภาพันธ์ 2568)
ระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2568 นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะ มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง และเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ณ นครฮาร์บิน ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการที่สำคัญ เช่น 1) การเข้าเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 2) พบหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน 3) นายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังมีกำหนดพบหารือกับภาคเอกชนของจีนและไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันรวมถึงการเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมืออีก 13 ฉบับ ครอบคลุมผลประโยชน์ในหลายสาขา อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัล เทคโนโลยีนิวเคลียร์ อวกาศ และปัญญาประดิษฐ์
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางไปเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว หรือ Asian Winter Games ครั้งที่ 9 ณ นครฮาร์บิน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจทางการที่กรุงปักกิ่ง
การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นปีทองแห่งมิตรภาพไทย - จีน (Golden Jubilee for Thailand - China Friendship) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย ? จีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย ? จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
2. การเดินทางเยือนอิสราเอลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเยี่ยมคนไทย 5 คน และบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ตัวประกันชาวไทย 5 คน ได้รับการปล่อยตัว และได้รับความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ของอิสราเอลที่โรงพยาบาล Al-Shamir Medical Center ในกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวไทยทั้ง 5 คน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยทุกคนมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีสภาพจิตใจที่ดี
ในระหว่างการเยือนอิสราเอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีอิสราเอล และเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณต่อฝ่ายอิสราเอลที่ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายอิสราเอลในการช่วยเหลือตัวประกันคนไทยที่เหลืออยู่คนสุดท้ายอีกหนึ่งคน และเร่งนำร่างตัวประกันอีก 2 คน ที่เสียชีวิตกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อไป ตลอดจนขอให้ดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของแรงงานไทยในอิสราเอล
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ประสานในการนำครอบครัว 4 ครอบครัว ให้เดินทางไปเยี่ยมคนไทยทั้ง 5 คนที่อิสราเอลด้วย
ทั้งนี้ ชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัวจำนวน 5 คน จะเดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยสายการบิน Emirates เที่ยวบินที่ EK 374 ในวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาประมาณ 07.35 น. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศจะไปให้การต้อนรับคนไทยทั้ง 5 คน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย
3. ผลการจัดโครงการ OL? BL&GL THAILAND IN BRAZIL นำซีรีส์วายและศิลปินนักแสดงไทยสู่ประเทศบราซิล (29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2568)
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับมูลนิธิไทย และสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทย ดำเนินโครงการ OL? BL&GL THAILAND IN BRAZIL ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2568 โดยการนำศิลปินนักแสดงซีรีส์วายของไทย จำนวน 4 คู่ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอนเทนต์วายไทย จำนวน 8 บริษัท เดินทางไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ ณ นครเซาเปาโล สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและความนิยมคอนเทนต์วายของไทยในตลาดบราซิลและภูมิภาคลาตินอเมริกา
กิจกรรมที่สำคัญระหว่างการเดินทางของคณะ เช่น การเข้าเยี่ยมคารวะรัฐบาลรัฐเซาเปาโล โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยเฉพาะผ่านกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการส่งเสริมคอนเทนต์วายไทยในรัฐเซาเปาโลและบราซิล ซึ่งเป็นสาขาที่มีศักยภาพสูง
นอกจากนี้ ศิลปินไทยได้ขึ้นเวทีจัดการแสดงและพบปะแฟนคลับกว่า 1,500 คน ณ Terra SP Concert Hall ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสื่อมวลชน และแฟนคลับทั้งชาวบราซิลและประเทศใกล้เคียง พบปะกับ Influencer และสื่อมวลชนท้องถิ่นหลายสำนัก ตลอดจนถ่ายทำ content ในสถานที่ต่าง ๆ เผยแพร่ผ่าน social media ซึ่งเป็นการต่อยอดความนิยมศิลปินไทย อุตสาหกรรมบันเทิงไทย ตลอดจนศิลปินไทยยังได้จัดกิจกรรมต่อยอดขยายผลทันทีอีก 2 กิจกรรม ซึ่งมีแฟนคลับชาวบราซิลและลาตินอเมริกาซื้อบัตรเข้าร่วมทั้งสองรายการเป็นจำนวนมาก
ผู้ประกอบการของไทย ทั้ง 8 ราย ได้แก่ บริษัท เฮโล โปรดักชั่น, Be on Cloud, ฮอลลีวูด จินเล่อ, กองทัพ โปรดักชั่น, ก้าวหน้า โปรดักชั่น, FRT Entertainment, Mediaplex International และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการบราซิลและภูมิภาคลาตินอเมริกาที่สำคัญกว่า 15 บริษัท โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการทำธุรกิจจากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์การนำศิลปินนักแสดงของไทยเดินทางไปจัดการแสดงและพบปะแฟนคลับ และความร่วมมือต่อยอดทางธุรกิจในลักษณะต่าง ๆ รวมกว่า 275 ล้านบาท
โครงการ OL? BL&GL Thailand in Brazil เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านการทูตวัฒนธรรม การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และแนวคิดการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่สากล (Local to Global) ในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ของไทยให้ ?รุกไปในระดับโลก? ตามแนวนโยบายรัฐบาล ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจอันดีในระดับประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะขยายไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างไทยกับบราซิลและภูมิภาคลาตินอเมริกาให้มีความแน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป
4. ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568
ตามที่ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2565 โดยไทยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ PRO BIMSTEC เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในช่วงที่ไทยเป็นประธาน มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 และรับมือความท้าทายต่าง ๆ ผ่านการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกสาขาความร่วมมือ ตลอดในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
บิมสเทคประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย
ในปีนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 ซึ่งนับเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกภายใต้รัฐบาลนี้
สิ่งที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมครั้งนี้ คือ
วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญ (deliverable) ของการเป็นประธานของไทย เพื่อ (1) กำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนของความร่วมมือบิมสเทค (2) กำหนดประเด็นสำคัญที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว (3) ส่งเสริมบิมสเทคในฐานะพื้นที่แห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และ (4) ยกระดับความร่วมมือในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค (Rules of Procedure for BIMSTEC Mechanisms) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบกลไกการดำเนินงานและกำหนดความรับผิดชอบของโครงสร้างต่าง ๆ ภายในบิมสเทค
ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 (6th BIMSTEC Summit Declaration) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำบิมสเทค โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการ ผลงาน และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของบิมสเทคในช่วงที่ไทยเป็นประธาน และมีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือบิมสเทคตามวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิบิมสเทค (Report of the BIMSTEC Eminent Persons? Group) เป็นเอกสารข้อเสนอแนะทางนโยบายของคณะผู้ทรงวุฒิฯ เพื่อพัฒนาบิมสเทคให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
ในช่วงวาระประธานของไทยนี้ ไทยได้พยายามให้ความร่วมมือในกรอบบิมสเทค เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด โดยมีสิ่งที่ได้ผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น ในมิติเศรษฐกิจ ได้ส่งเสริมประเด็น เช่น การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น การยกระดับความเชื่อมโยงในภูมิภาค การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย หรือ MSME (Micro, Small and Medium Enterprises) ทำให้ประชาชนสามารถขนส่งสินค้าไปยังตลาดที่มีศักยภาพนี้มีต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะทางทะเล รวมถึงการเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการทุกขนาดสามารถเข้าถึงตลาดในภูมิภาคนี้ได้ง่ายขึ้น
สำหรับในมิติด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ไทยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุขเพื่อพลิกฟื้นความมั่นคงให้แก่รัฐสมาชิกบิมสเทค ซึ่งทำให้คนไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิม (traditional medicine) การขยายตลาดสินค้าเกษตร และการเพิ่มพูนความมั่นคงทางอาหารกับกลุ่มประเทศสมาชิกได้
นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทำให้นักท่องเที่ยวจากอินเดียและเอเชียใต้ เป็นตลาดสำคัญที่สุดของไทยในขณะนี้ และเป็นดาวรุ่งด้านการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน
ในห้วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในวันที่ 4 เมษายนนี้ ขอเชิญชวนให้ประชาชนไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมการประชุมบิมสเทค เพื่อส่งต่อวาระประธานให้แก่บังกลาเทศต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ