เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการบรรยายพิเศษ เรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทยและแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมี ดร. วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโส และ ดร. นิภาพรรณ กลั่นเงิน นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC เป็นวิทยากร
ในโอกาสนี้ นางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ อธิบดีกรมยุโรป และนางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายของไทยในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในฐานะอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ โดยหลายประเทศในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนี มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมนี้ และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย
การแข่งขันและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเจ้าของเทคโนโลยีทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่มีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยอาศัยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในด้านทักษะแรงงานและบุคลากรเพื่อรองรับการเข้ามาของนักลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ด้วย
เมื่อเดือนตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) เพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บท (Roadmap) ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมในทุกมิติต่อไป นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนในปี 2568 ไทยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ