เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ไทยในฐานะประธานบิมสเทค เป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสบิมสเทค ครั้งที่ 25 (The 25?? BIMSTEC Senior Officials? Meeting) ที่กรุงเทพฯ โดยมีนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส และนางสาวรุจิกร แสงจันทร์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เข้าร่วมในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายไทย
ที่ประชุมได้พิจารณาเอกสารและข้อตัดสินใจสำคัญต่าง ๆ ของบิมสเทค เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 โดยรัฐสมาชิกได้รายงานความคืบหน้าของความร่วมมือบิมสเทคทั้ง 7 สาขา ได้แก่ (1) การค้า การลงทุน และการพัฒนา (2) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) ความมั่นคง (4) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (5) การติดต่อระหว่างประชาชน (6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ (7) ความเชื่อมโยง โดยไทยในฐานะประเทศนำสาขาความเชื่อมโยง ได้ย้ำความสำคัญของความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเลระหว่างรัฐสมาชิกบิมสเทค และการเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสามฝ่ายเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย-เมียนมา-ไทย ตลอดจนนำเสนอ ?วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 หรือ BIMSTEC Bangkok Vision 2030? ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิด Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC (PRO ??BIMSTEC) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่ไทยใช้ในการขับเคลื่อนวาระการเป็นประธานบิมสเทคด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือด้านการบริหารและการเงิน พิจารณาร่างเอกสารสำคัญ ๆ และรับทราบการดำเนินงานของศูนย์ต่าง ๆ ภายใต้บิมสเทค ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับเมียนมาและไทยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาด้วย
ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการที่ไทยเป็นร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบันมีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการเติบโตและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือในภูมิภาค
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ