การลงนามความตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 3, 2025 15:16 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติการดำเนินการตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งรวมถึงการอนุมัติการลงนามความตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (Agreement under the United Nations Convention on the Law of the Sea on the Conservation and Sustainable Use of Marine Biological Diversity of Areas beyond National Jurisdiction: BBNJ) และเห็นชอบการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเข้าเป็นภาคี BBNJ ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาพันธกรณีและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคี และการขอรับการสนับสนุนโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการเข้าเป็นภาคีจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

การลงนาม BBNJ ยังไม่ถือว่าไทยเป็นภาคี โดยประเทศไทยยังจะต้องแจ้งความประสงค์เข้าเป็นภาคีด้วยการยื่นสัตยาบันสารต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

BBNJ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ติดตาม และจัดระเบียบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (marine genetic resources - MGRs) ในพื้นที่นอกเขตอำนาจของรัฐ (ทะเลหลวงและบริเวณพื้นที่ หรือ The Area) ซึ่งปัจจุบัน ยังขาดการควบคุมและการจัดระเบียบเพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ ในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีชีวิตดังกล่าวที่ถือว่าเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ โดยมีเนื้อหาครอบคลุม 4 เรื่อง ดังนี้

การจัดระเบียบการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ทรัพยากรดังกล่าว (Marine Genetic Resources : MGRs, includin the fair and equitable sharing of benefits)

การใช้เครื่องมือการจัดการเชิงพื้นที่รวมถึงการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Area Based Management Tools, including Marine Protected Areas)

การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessments)

การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล (Capacity Building and the Transfer of Marine Technology)

ปัจจุบัน สหประชาชาติอยู่ระหว่างเปิดให้ลงนาม BBNJ จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2568 โดย BBNJ จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันหลังมีประเทศเข้าเป็นภาคีจำนวน 60 ประเทศ ล่าสุด มีประเทศที่ได้ร่วมลงนาม BBNJ แล้ว 112 ประเทศ และเข้าเป็นภาคีแล้วจำนวน 21 ประเทศ (สถานะ ณ วันที่ 28 มีนาคม 2568)

หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคี จะได้รับประโยชน์จากกลไกต่าง ๆ ภายใต้ BBNJ โดยเฉพาะการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ การเข้าถึงข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลเพื่อการวิจัย การเสริมสร้างขีดความสามารถและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสอดคล้องกับเป้าหมาย SGD14 อีกด้วย

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ