เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงการผลักดันให้บิมสเทคเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและบรรลุศักยภาพสูงสุดในฐานะกรอบความร่วมมือเดียวที่เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่จบลงนี้ เป็นการปิดฉากการเป็นเจ้าภาพบิมสเทคของไทยโดยสมบูรณ์ โดยผู้นำรัฐสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ ได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ โดยเฉพาะปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และ ?วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030? ที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous, Resilient, Open หรือ PRO BIMSTEC) โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ข้อตามที่ไทยตั้งเป้า ได้แก่
(1) บิมสเทคที่ ?มั่งคั่ง? (Prosperous BIMSTEC) โดยเฉพาะการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสใหม่โดยเฉพาะในเอเชียใต้
(2) บิมสเทคที่ ?ยั่งยืน ฟื้นคืน? (Resilient BIMSTEC) ผ่านการสนับสนุนความร่วมมือด้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ โดยผู้นำรัฐสมาชิกได้ร่วมกันรับรอง ?แถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568? ที่ไทยเป็นผู้เสนอ เพื่อยืนยันถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ
(3) บิมสเทคที่ ?เปิดกว้าง? (Open BIMSTEC) ผ่านการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ซึ่งไทยได้จัดกิจกรรม BIMSTEC Young Gen Forum ในวันที่ 3 เมษายน 2568 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของบิมสเทคด้วย
ในการนี้ ไทยได้ส่งต่อการเป็นประธานบิมสเทคให้แก่บังกลาเทศ เพื่อสานต่อพันธกิจของบิมสเทคต่อไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนบิมสเทคให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
ภายหลังการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 แก่สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศที่สนใจด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ