การบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานะล่าสุดในประเด็นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ให้ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 15, 2008 08:25 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้บรรยายสรุปต่อเอกอัครราชทูตและอุปทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทย เกี่ยวกับสถานะล่าสุดในประเด็นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 กองทัพภาคที่ 2 ของไทยรายงานว่า ในขณะที่ทหารพรานจากกองกำลังสุรนารีกำลังเดินลาดตระเวณอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ใกล้กับภูมะเขือ ทหารพรานดังกล่าวได้พบกับทหารกัมพูชากลุ่มหนึ่งในเขตดินแดนไทย ทหารพรานของไทยซึ่งไม่มีอาวุธได้เข้าไปแจ้งให้ทหารกัมพูชาทราบว่าได้รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย พร้อมทั้งขอให้ออกไปจากบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ดี ภายหลังการเตือน ทหารกัมพูชาได้เป็นฝ่ายยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าก่อน ฝ่ายทหารไทยตระหนักถึงความอ่อนไหวของสถานการณ์ จึงตัดสินใจถอยออกจากพื้นที่ ขณะนั้นเองฝ่ายทหารกัมพูชาเป็นผู้ลั่นกระสุนใส่ทหารพรานของไทย ซึ่งไม่มีอาวุธ เป็นเหตุให้กองกำลังทหารไทยที่รออยู่นอกบริเวณ จำเป็นต้องยิงตอบเพื่อป้องกันตนเอง การยิงโต้ตอบกันดังกล่าว ทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

2. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ทหารพรานไทยสองนายเหยียบกับระเบิดขาขาด ในขณะที่กำลังเดินลาดตระเวณตามปกติในพื้นที่ลึกเข้าไปในเขตแดนไทย ทางตอนเหนือของภูมะเขือ ใกล้กับปราสาทพระวิหาร เส้นทางที่ทหารทั้งสองนายลาดตระเวณนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ามีการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติของไทย (The Thai Mine Action Center — TMAC) จึงได้ส่งชุดเจ้าหน้าที่เข้าไปเพื่อตรวจสอบและเคลียร์พื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบทุ่นระเบิดสังหารที่ผลิตใหม่หลายทุ่นวางไว้ในบริเวณโดยรอบ เมื่อตรวจสอบต่อไป เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า เพิ่งมีการวางทุ่นระเบิดชนิด PMN-2 ผลิตในประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นทุ่นระเบิดประเภทที่กองทัพไทยไม่เคยใช้หรือมีไว้ในครอบครอง โดยที่ทหารพรานไทยไม่เคยตรวจพบทุ่นระเบิดชนิดนี้ในระหว่างการลาดตระเวณก่อนวันที่ 3 ตุลาคม 2551 รัฐบาลไทยจึงเชื่อว่าทุ่นระเบิดดังกล่าวถูกวางไว้หลังจากนั้น

3. ไทยรู้สึกตระหนกต่อพัฒนาการดังกล่าว เพราะจะถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ปี ค.ศ. 1997 (อนุสัญญาออตตาวา) ไทยหวังอย่างยิ่งว่า การที่รัฐบาลกัมพูชาได้เพิ่มการใช้ถ้อยคำรุนแรงเกี่ยวกับกรณีพิพาทเขตแดนขึ้นในช่วงหลังนี้ คงจะไม่ใช่เพื่อกลบเกลื่อนมิให้มีการเพ่งเล็งต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงครั้งนี้

4. ไทยมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า ประเด็นเรื่องเขตแดนควรได้รับการคลี่คลายบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา อย่างไรก็ดี ศาลยุติธรรมระหว?งประเทศก็ระบุด้วยว่า จะตัดสินเฉพาะประเด็นเรื่องกรรมสิทธิในตัวปราสาท แต?ศาลไม่มีอำนาจชี้ขาดเกี่ยวกับแนวเส้นเขตแดนในพื้นที่ดังกล?ว ดังนั้น ไม่มีฝ่ายใดที่จะสามารถอ้างสิทธิทางเขตแดนบนพื้นฐานของคำตัดสินดังกล่าวได้ สนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 ต่างหากที่เป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับเขตแดนในบริเวณนี้ ซึ่งทั้งสองประเทศก็ยังไม่ได้เริ่มการร่วมสำรวจและปักปันเขตแดน ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศควรคลี่คลายข้อขัดแย้งในเรื่องเขตแดน โดยการอ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่โดยการใช้ถ้อยคำรุนแรงที่อันตราย

5. ทั้งสองประเทศมีกลไกทวิภาคีสำหรับภารกิจนี้พร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (หรือคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา JBC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองฝ่ายได้พบปะหารือกันแล้วสองครั้ง ครั้งแรกที่เมืองเสียมราฐในกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 และครั้งที่สองที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 18-19 สิงหาคม 2551 ผลจากการหารือทั้งสองครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะเสนอรัฐบาลของตน ให้จัดทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อธำรงสันติภาพตามแนวชายแดน ในระหว่างที่การดำเนินงานปักปันเขตแดนของคณะกรรมาธิการ JBC ยังไม่แล้วเสร็จ และเพื่อเป็นมาตรการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายได้รับที่จะดำเนินการขั้นต้นเพื่อปรับกำลังทหารของแต่ละฝ่ายลงจากพื้นที่ที่เป็นปัญหา และเตรียมการสำหรับการปรับกำลังเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะเสนอต่อรัฐบาลของตนให้ความเห็นชอบจัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และให้รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองฝ่ายประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากการที่มีการประชุมคณะกรรมาธิการ JBC แล้ว

6. ประเทศไทยหวังด้วยใจจริงว่า กัมพูชาจะเคารพและปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกันไว้ในการหารือระดับรัฐมนตรีดังกล่าว และหวังด้วยว่ากัมพูชาจะใช้ความอดทนอดกลั้นและความยับยั้งชั่งใจเท่าที่จำเป็น ในระหว่างที่กำลังรอให้กระบวนการภายในของแต่ละประเทศดำเนินไป

7. ประเทศไทยได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งแล้ว ในอันที่จะแจ้งให้ฝ่ายกัมพูชาเข้าใจว่าการตัดสินใจใดๆ หรือการดำเนินการใดๆ ของไทยที่มุ่งให้บรรลุการกำหนดเส้นเขตแดนหรือการจัดทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับเขตแดน จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญของไทยและกระบวนการทางกฎหมายภายในของไทย กล่าวคือ จำเป็นต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ รวมตลอดไปถึงการจัดทำข้อตกลงใดๆ เกี่ยวกับการปรับกำลังในพื้นที่ชายแดนบริเวณพระวิหารด้วย

8. ดังนั้น ไทยจึงรู้สึกฉงนใจว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจึงได้ยื่นคำขาด เมื่อ 13 ต.ค. 51 ให้ฝ่ายไทยถอนกำลังทหารภายใน 15.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. 51 คำขาดดังกล่าวขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงต่อจุดยืนของรัฐบาลกัมพูชาเองก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขในกรอบทวิภาคีโดยสันติวิธี นอกจากนั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเพิกเฉยและไม่เคารพต่อกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งอาจแตกต่างจากของกัมพูชา แต่ก็ควรได้รับการยอมรับนับถือเช่นกัน

9. ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากัมพูชาจะพิจารณาทบทวนการยื่นคำขาดดังกล่าวและยอมให้รื้อฟื้นการดำเนินการแก้ปัญหาในกรอบทวิภาคีที่ได้เริ่มขึ้นแล้วอีกครั้งหนึ่ง แต่หากกัมพูชาเลือกวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้กำลัง ไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้สิทธิในการป้องกันตนเอง ตามที่ระบุภายใต้กฏบัตรสหประชาชาติ เพื่อปกป้องกำลังพลหน่วยเก็บกู้ทุ่นระเบิดของเราและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ