กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงกรณีการจัดทำแผนบริหารจัดการอาณาบริเวณต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหาร

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 16, 2008 10:23 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่ในรายการกรองสถานการณ์เมื่อ 14 ตุลาคม 2551 ได้มีผู้วิจารณ์กล่าวหากระทรวงการต่างประเทศว่า ได้มอบหมายให้สำนักอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการจัดทำแผนบริหารจัดการอาณาบริเวณต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหาร กรณีปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยมอบงบประมาณให้ 1.5 ล้านบาท และมีอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากเป็นผู้ดำเนินงานภายใต้ ICOMOS ไทย และกรมศิลปากร เพื่อออกแบบพื้นที่พัฒนารอบปราสาทพระวิหาร เท่ากับไม่มีความพยายามรักษาผลประโยชน์ของชาติ และอาจขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 รวมทั้งมีข้อเสนอให้ไทยถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลกด้วย นั้น

กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ข้อวิจารณ์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง และขอแจ้งข้อเท็จจริง ดังนี้

1. นับตั้งแต่กัมพูชาได้ยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2549 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างเต็มที่ โดยจัดทำรายงานข้อโต้แย้งทางวิชาการต่อรายงานประเมินของ ICOMOS สากล กรณีกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับกรมศิลปากรในโครงการดังกล่าว โดยใช้งบประมาณจำนวน 300,000 บาท ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 กระทรวงการต่างประเทศได้แจกจ่ายรายงานฉบับนี้ให้คณะกรรมการมรดกโลก ICOMOS สากล เพื่อทักท้วงการตัดสินใจขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งแม้จะไม่บรรลุผล แต่ก็ถือว่าได้ดำเนินการทักท้วงเป็นทางการ โดยมีเอกสารหลักฐานและข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนแล้ว

2. โดยที่รัฐบาลไทยได้เคยเสนอจดทะเบียนแหล่งโบราณสถานในประเทศไทยเป็นมรดกโลกร่วมกับปราสาทพระวิหาร กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำรายงานศึกษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของโบราณสถานที่เกี่ยวข้อง ที่ตั้งอยู่ภายในดินแดนไทย และการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ในฝั่งไทยที่ยังไม่เคยมีการดำเนินการมาก่อน เพื่อเตรียมข้อมูลและความพร้อมของฝ่ายไทยตามวัตถุประสงค์ข้างต้น รวมทั้งเพื่อเตรียม พร้อมสำหรับการเสนอขอขึ้นทะเบียนโบราณสถานและพื้นที่ในฝั่งไทยขึ้นเป็นมรดกโลกลำพังฝ่ายเดียวด้วย ซึ่งความพยายามดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของไทย โครงการที่สำคัญ ได้แก่

2.1 โครงการศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการและคุณค่าของโบราณสถานบริเวณผามออีแดงและอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อเตรียมจัดทำคำขอของไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพหลัก ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบให้เริ่มดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2550 การศึกษาเสร็จสิ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2551

2.2 โครงการจัดทำแผนบริหารจัดการอาณาบริเวณต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหาร (ในฝั่งไทย) กรณีปราสาทพระวิหารในฝั่งกัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเปิดทางเลือกในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้แก่ ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของไทย อาทิ โครงการเส้นทางวัฒนธรรมในเขตอีสานใต้ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเริ่มมีการดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ขณะนี้ โครงการอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

3. รายงานการศึกษาข้างต้น ล้วนเป็นงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และต้นน้ำลำธารบนเขาพระวิหาร การอนุรักษ์และบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในดินแดนไทย รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการเตรียมการศึกษาเหล่านี้จะยิ่งเป็นประโยชน์ หากรัฐบาลไทยประสงค์จะเสนอขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ธรรมชาติและโบราณสถานในดินแดนไทยขึ้นเป็นมรดกโลกในอนาคต ซึ่งทั้งหมด ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของไทย และมาตรฐานด้านวิชาการทีเป็นสากล

4. การดำเนินการต่าง ๆ ข้างต้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับแถลงการณ์ร่วมไทย — กัมพูชาซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 และได้ระงับผลไปแล้ว อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินงานของคณะกรรมการประสานงาน 6 ชาติที่จะจัดตั้งขึ้นตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ในอนาคต นอกจากนั้น ขอยืนยันว่างานศึกษาทั้งหมดเป็นงานทางวิชาการ ไม่ได้มีผลใด ๆ โดยอัตโนมัติในตนเอง หากหน่วยงานใดประสงค์จะนำรายงานเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในทางหนึ่งทางใด ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องและตามกฎหมายต่อไป การตัดสินใจใช้ข้อมูลจากรายงานการศึกษาเหล่านี้ หากจะมีการดำเนินการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ในทางลบ ย่อมสามารถตรวจสอบได้เสมอ

5. ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ค.ศ. 1972 แต่มิได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลก (คณะกรรมการมรดกโลกประกอบด้วยสมาชิก 21 ประเทศ คือ บาร์เบโดส ออสเตรเลีย จีน บาห์เรน อียิปต์ บราซิล ไนจีเรีย จอร์แดน สวีเดน แคนาดา คิวบา อิสราเอล เคนยา มาดากัสการ์ เมาริเชียส โมร็อกโก เปรู สเปน เกาหลีใต้ ตูนีเซีย และสหรัฐฯ) ดังนั้น ข้อเรียกร้องให้ไทยถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สำหรับการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วย การคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติฯ เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้ผลเสียโดยปราศจากอคติ เนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับการรักษาและคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทุกแห่งในประเทศไทย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและพระนครศรีอยุธยา และความพยายามที่จะจดทะเบียนสถานที่ธรรมชาติและโบราณสถานของไทย เป็นมรดกโลกในอนาคต ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และเส้นทางวัฒนธรรม จากปราสาทตาเมือน - อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง - ปราสาทหินพิมาย

โครงการศึกษาคุณค่าของโบราณสถานและการจัดทำแผนบริหารจัดการในพื้นที่ฝั่งไทย

1. โครงการจัดทำรายงานข้อโต้แย้งทางวิชาการในรายงานการประเมินของ ICOMOS สากล กรณีกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ได้ใช้รายงานของ ICOMOS สากล เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาเรื่องปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยจึงคาดว่าคณะกรรมการมรดกโลกก็จะใช้เอกสารฉบับเดียวกันนี้สำหรับการประชุมสมัยที่ 32 ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ขอความร่วมมือจากสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญสาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นเจ้าภาพดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร วงเงินงบประมาณ 300,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อบกพร่องและตีแผ่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงของรายงานที่จัดทำโดย ICOMOS สากล กรมศิลปากรได้จัดทำรายงานข้อโต้แย้งเสร็จและส่ง ไปให้ ICOMOS สากลได้พิจารณาไปแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 (2-11 กรกฎาคม 2551)

2. โครงการศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการและคุณค่าของโบราณสถานบริเวณผามออีแดงและอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (กระทรวงฯ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเห็นชอบให้มอบหมายการดำเนินโครงการเมื่อ 8 สิงหาคม 2550 ศึกษาเสร็จสิ้นเมื่อมิถุนายน 2551) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในวงเงินงบประมาณ 1.5 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คุณค่าทางวิชาการและความสำคัญของโบราณสถานต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับปราสาทพระวิหารและตั้งอยู่ในดินแดนของไทย ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ด้านวัฒนธรรม ตลอดจนศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานกับชุมชนโบราณและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติโดยรอบเขาพระวิหาร การนำเสนอแผนอนุรักษ์และบริหารจัดการโบราณสถานโดยให้ความ สำคัญต่อ “ความเป็นของแท้และดั้งเดิม” (Authenticity) และ “การมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน” (Integrity) ร่วมกันระหว่างปราสาทพระวิหารกับโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ในฝั่งไทย

3. โครงการจัดทำแผนบริหารจัดการอาณาบริเวณต่อเนื่องจากปราสาทพระวิหาร กรณีปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (กระทรวงฯ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเห็นชอบให้มอบหมายการดำเนินโครงการเมื่อ 8 สิงหาคม 2550 ยังอยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง) มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านงานอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมศิลปากรด้วย ในวงเงินงบประมาณ 1 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพทางกายภาพ เช่น สภาพหิน ดิน และน้ำ และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติบนเขาพระวิหารที่อยู่ในดินแดนของประเทศไทย เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า พันธุ์พืช รวมทั้งภูมิทัศน์ เพื่อประกอบการนำเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการ “ต่อยอด” และพัฒนาเป็นแผนต่อไป โดยสามารถใช้ควบคู่กับรายงานผลการศึกษาคุณค่าของโบราณสถานบริเวณผามออีแดงและอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ที่จัดทำโดยกรมศิลปากรตามข้อ 2

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ